ระดมเครือข่ายแนะกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากร ผ่านกลไก “ประเมินผลกระทบ” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จัดประชุมคู่ขนาน ประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน ระดมเครือข่ายภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาชน แนะแนวทางการประเมินผลกระทบ การพัฒนาบุคลากร กลไกสร้างความยั่งยืน ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
 
   ในการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ ๑ ได้มีการจัดประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “การประชุมปรีกษาหารือระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายหลังจากการมีวิสัยทัศน์ร่วมด้านการประเมินผลกระทบสุขภาพของอาเซียนปี ๒๕๕๘” เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยการนำเสนอข้อมูลในประเด็นเรื่องความต้องการด้านกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างสมรรถนะด้านการประเมินผลกระทบให้แก่บุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านภาครัฐ ภาคการลงทุน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส โดยมิใช่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนควบคู่ไปด้วย รวมทั้งข้อเสนอแนะของการดำเนินการจากหน่วยงานภาครัฐ วิชาการ เอกชน และหน่วยงานสนับสนุนเงินทุนต่อโครงการที่สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
   ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประเด็นของการประเมินผลกระทบ (IA) นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในด้านการประเมินต้นทุนทางสังคม (Social cost) และผลประโยชน์ทางสังคม (Social benefit) ที่จะถูกนำใช้ในการจัดทำโครงการ (Project approach) ที่ต้องมีการวิเคราะห์คำนวณผลได้ผลเสียของปัจจัยต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว
 
   “โครงการต่างๆ สามารถนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาต่อยอดใช้อย่างชาญฉลาด โดยคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน พร้อมกับนำประสบการณ์ของต่างประเทศที่ดำเนินการสำเร็จมาใช้เป็นตัวอย่างให้เกิดประโยชน์ ประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบท ค่านิยม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ มาเป็นปัจจัยในการคำนวณเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งบางโครงการอาจจะไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ แต่อาจจะสร้างผลประโยชน์กับสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือผู้มีอำนาจ หากต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ก็ต้องมีกลไกสนับสนุนหรืออุดหนุนให้โครงการอยู่รอดได้”
 
   มร.สุทธิ อาร์ มุคเคอจี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค กล่าวว่า การดำเนินการโครงการต่างๆ ทั้งส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เพื่อการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการประเมินผลกระทบ (IA) จะเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยดำเนินการได้
 
   “การประเมินผลกระทบ ต้องมีการสร้างขีดความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เกี่ยวข้อง (Capacity Building) ได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับการกำกับดูแลของภาครัฐหรือหน่วยงานที่มีอำนาจต้องมีความแข็งแกร่ง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อโครงการต่างๆ ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประเมินผลกระทบที่กำหนดไว้”
 
   รศ.วงศา เล้าหศิริวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบ (IA) ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความซับซ้อน ทำให้ท้องถิ่นขาดความรู้เข้าใจอย่างแท้จริง การเข้าถึงข้อมูลทำได้ยาก ประกอบกับบุคลากรทางด้านนี้ยังมีน้อย และเพื่อรองรับการเติบโตและขยายตัวของโครงการที่อาจจะมีผลกระทบในอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดตั้งศูนย์สำหรับการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจถึงกระบวนการทำIAโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมกับการขยายการเรียนรู้ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนฝึกอบรมร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาในลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
 
   “การดำเนินโครงการจะทำทุกอย่างให้โปร่งใส สร้างเข้าใจให้กับพื้นที่อย่างแท้จริง สร้างเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทั้งฝ่ายประชาสังคม และผู้พัฒนาโครงการ สร้างการมีส่วนร่วม โดยยึดหลักการหาหนทางในการสร้างความสมดุลแห่งผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายมากที่สุด และทำอย่างไรให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด”
 
   นายวิศัลย์ เทพสาร รองกรรมการผู้จัดการสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ได้มีการจัดตั้งองค์สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Leadership Institute) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เพื่อฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรตั้งแต่ระดับผู้บริหารระดับสูง ไปถึงระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
พร้อมกับได้มีการตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืน ธรรมภิบาล และสื่อสารองค์เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อกำกับ ดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน บนหลักธรรมภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และความรับผิดชอบ สอดคล้องกับกฎระเบียบข้อบังคับ มาตรฐานของแต่ละประเทศ และระหว่างประเทศ บนหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ ประเทศชาติ สังคม และธุรกิจ ตลอดจนการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติ ๑๗ ประการ

 
   “ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ผ่านมา เราได้มีการคัดเลือก สนับสนุนผู้นำรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ ๑๘- ๓๐ปี สร้างแรงบันดาลใจต่อการพัฒนาความยั่งยืน จำนวน ๔ คน เข้าร่วมประชุมผู้นำเยาวชนระดับโลก (One Young World 2015) เมื่อวันที่ ๑๘-๒๑ พ.ย. ที่ผ่านมา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน เราได้นำเรื่องของกระบวนการประเมินผลกระทบ (IA) มาส่วนหนึ่งของการจัดทำแบบจำลองทางธุรกิจให้สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หน่วยงาน หรือองค์กรรัฐ หรือเอกชน สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของสังคม”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ