สช. พัฒนากลไก ‘เอชไอเอ’ ระดับภาค ตั้งโจทย์ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ ลดความขัดแย้ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจจาก ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกกระบวนการความร่วมมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับภาค ซึ่งสามารถรวบยอดความคิดของ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เอชไอเอ” ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ เอชไอเอเป็นระฆังที่ช่วยเตือนภัยให้กับชุมชนและท้องถิ่น
 
   ภายในการประชุม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้บอกเล่าทิศทางและกระบวนการสนับสนุนการดำเนินงาน “เอชไอเอ” ของ สช. ตอนหนึ่งว่า ทิศทางการพัฒนาหลังจากนี้จะมุ่งไปใน 5 มิติ ประกอบด้วย
 
   1.มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยมีเอชไอเอเป็นเครื่องมือ
   2.มุ่งสนับสนุนการใช้หลักเกณฑ์และวิธีการ เอชไอเอ ฉบับที่ 2
   3.มุ่งส่งเสริมการใช้ เอชไอเอ ในเชิงสร้างสรรค์
   4.มุ่งสร้างความร่วมมือในการระดมทรัพยากรในระดับภาค โดยร่วมกับหน่วยงานองค์กรภาคีทุกภาคส่วนตามบริบทและประเด็นในพื้นที่
   5.มุ่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เมื่อมีการทำเอชไอเอแล้ว ก็ควรนำผลประเมินไปยกระดับให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป
 
   ขณะที่ อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการ สช. กล่าวเสริมว่า โจทย์สำคัญในขณะนี้คือจะนำเอชไอเอไปสู่การทำงานในระดับพื้นที่ได้อย่างไร เพราะเอชไอเอเป็นเครื่องมือที่เสริมพลังให้กับคนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สาธารณะชนและสังคมต่อไป
 
   “สิ่งสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้เอชไอเอถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการต่อต้านหรือมีภาพลักษณ์ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะข้อเท็จจริงคือเอชไอเอเป็นภาพการทำงานเชิงสร้างสรรค์ที่ร่วมกันของทุกฝ่าย ฉะนั้นกลไกที่ออกแบบต้องมีความยืดหยุ่นมากที่สุด” รองเลขาธิการ สช.ตั้งข้อสังเกต
 
   ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นประโยชน์และเห็นร่วมในทิศทางการสนับสนุนการดำเนินงาน “เอชไอเอ” ของ สช. ซึ่งครั้งนี้เป็นการพบปะกันทั้งคนเก่าคนใหม่ นักวิชาการในสถาบันการศึกษา นักวิชาการจากชุมชน ผู้แทนพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและพื้นที่ดำเนินการ มาจากทั่วทุกภาคของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ผู้แทนคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) ซึ่งทุกท่านได้ร่วมกันออกแบบกลไกและวางบทบาทหน้าที่ ในการร่วมสนับสนุนการทำงานด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับภาค เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงสร้างสรรค์และยกระดับการทำงานบนกรณี (Case) สู่ระดับนโยบายสาธารณะ
 
   ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สช. ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการจัดกระบวนการเอชไอเอในช่วงเริ่มต้นของแต่ละพื้นที่ ไม่เกิน 100 กรณี ขณะเดียวกันก็มีแผนพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อสนับสนุนงานพื้นที่ให้ได้ 100-200 ราย และฝึกอบรมในพื้นที่นำร่องที่มีประสบการณ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
 

สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9055

รูปภาพ