ปิดประชุมวิชาการนานาชาติอาเซียน ไทยประกาศโรดแมพขับเคลื่อนกระบวนการเอชไอเอในอาเซียน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ปิดการประชุมประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบ ภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ ๑ เลขาธิการคณะ กรรมการสุขภาพแห่งชาติเผยผลสำเร็จประชุมตลอด 3 วัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ผลกระทบจากการเจริญ เติบโตเศรษฐกิจ พร้อมประกาศโรดแมพสร้างพลังเครือข่ายอาเซียนขับเคลื่อนกลไก HIA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 
   นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร” ว่า ตลอด ๑ ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก มาอย่างต่อเนื่อง จนได้เห็นถึงบทบาทของการประเมินผลกระทบ และการประเมินกระทบด้านสุขภาพ (IA/HIA) อันเป็นส่วนสำคัญของการช่วยจัดการความขัดแย้ง การแก้ไขปัญหา และการสร้างการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วน นำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาในบริบทที่หลากหลาย
 
   จากการขับเคลื่อนที่มีรูปธรรมความสำเร็จทั้งในระดับนโยบายและชุมชนหลายกรณี ประเทศไทยจึงได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการประสานการดำเนินงาน HIA ในกลุ่มประเทศอาเซียน อันเป็นที่มาของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรก โดยการประชุมตลอด 3 วันที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย ข้อมูลหลักฐานระหว่างนักวิชาการ ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่างกว้างขวาง
 
   ทำให้รับทราบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว นอกจากผลกระทบทางบวก ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ ทั้งระดับในประเทศและข้ามพรมแดน อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องความซับซ้อนเชิงความสัมพันธ์ของรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนทั้งในด้านการพัฒนาและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงพยายามเสนอการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการทำงานที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น
 
   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในอาเซียนได้กำหนดรูปแบบดำเนินการ หรือโรดแมพไว้ ๓ ประการหลัก ประกอบด้วย ๑.การสร้างองค์ความรู้และการบริหารจัดการ (Knowledge generation & management) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายทุกระดับ ผ่านการสร้างงานวิชาการและการวิจัย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดหลักสูตรฝึกอบรม ๒.ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน (Collaboration) ดำเนินงานให้กว้างขวาง ครอบคลุม ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น มีเป้าหมายร่วมและได้ประโยชน์ร่วมกัน และนำไปสู่การเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพบนกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และ ๓.การประสานความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียน (Integration to ASEAN Blueprint) ผลักดันให้การดำเนินงาน HIA เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของประชาคมอาเซียน
 
   “การประเมินผลกระทบ (IA) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามีมาส่วนร่วมเรียนรู้ ดูแล และแบ่งปันข้อมูลกันมากขึ้น ช่วยเพิ่มผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบ รวมทั้งการสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของทุกภาคส่วน เพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขที่ยึดโยงสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน”
 
   ด้าน นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในฐานะ ประธานการจัดประชุมวิชาการ ครั้งนี้ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการและภาคส่วนอื่นๆ เป็นการเติมเต็มช่องว่าง ความแตกต่าง และความก้าวหน้าในการดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของแต่ละประเทศในอาเซียนให้สมบูรณ์มากขึ้น สร้างพื้นฐานการพัฒนา และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน กำลังคน การฝึกอบรมให้กับทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของอาเซียนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
   “ที่ประชุมได้มีการลงนามความร่วมมือ (MoU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ Hue University of Medicine and Pharmacy ประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิชาการ หลักสูตรการเรียนการสอน IA/HIA ที่สอดรับกับสังคม และสามารถนำปฏิบัติได้จริง ถือเป็นผลรูปธรรมของความร่วมมือจากการประชุมในครั้งนี้ โดยความร่วมมือในลักษณะนี้ก็จะมีการขยายผลไปยังประเทศอื่นต่อไป อีกทั้ง Hue University of Medicine and Pharmacy ยังรับเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการครั้งที่ 2 ที่ประเทศเวียดนามในปี 2560 อีกด้วย”
 
   นอกจากนั้น ผลลัพธ์ของการประชุม รวมทั้งแผนปฏิบัติการของผู้ประสานงานเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน จะนำไปรายงานเสนอต่อที่ประชุมอาวุโสด้านการสาธารณสุขระดับอาเซียนครั้งที่ ๑๑ ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้าที่ประเทศบรูไน เพื่อให้ตัวแทนแต่ละประเทศได้นำกลับไปผลักดันสู่ระดับนโยบายของแต่ละประเทศอีกทางหนึ่ง พร้อมกับ สช. จะเสนอรายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในเดือนมกราคมนี้ด้วย
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ