- 927 views
เสนอปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพ แนะแปลงโรงพยาบาลรัฐเป็นองค์การมหาชน แยกหน่วยออกนโยบายและกำกับดูแลออกจากหน่วยให้บริการ เพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ พร้อมมีกรรมการจากประชาชนร่วมบริหาร
ในการประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย” ในโอกาส ๙ ปี ของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) วันที่ ๑๑ มิ.ย. ๒๕๕๘ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการเสวนาในหัวข้อ “สมดุลของการอภิบาลระบบสุขภาพ”
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัจจุบันการให้บริการสุขภาพที่จัดการโดยภาครัฐเริ่มมีข้อจำกัด เพราะปริมาณการจัดบริการไม่พอกับผู้ใช้บริการ จึงควรปรับปรุงการจัดการใหม่ โดยแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้ให้บริการ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับบริการที่ดี มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น จึงเสนอให้มีการปฏิรูปและแปลงโรงพยาบาลและสถานพยาบาลรัฐเป็นนิติบุคคลเพื่อให้ตรวจสอบได้ และให้บริหารจัดการในรูปแบบองค์การมหาชน เนื่องจากผู้ออกนโยบายและกำกับดูแลไม่ควรเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเอง
สำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อาจไม่คุ้มค่าในการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ควรใช้วิธีการรวมกลุ่มโรงพยาบาล เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากขึ้น เช่นตัวอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นองค์การมหาชน มีกรรมการโรงพยาบาลจากคนในท้องถิ่น ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
“วันนี้ไม่ว่าจะเจ็บป่วยมากหรือน้อยแค่ไหน ทุกคนวิ่งไปรักษาที่โรงพยาบาลกันหมด ทำให้การบริการและแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งรองรับไม่ไหว ทำให้ผู้เจ็บป่วยเร่งด่วนบางส่วน ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะไม่สามารถรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐได้ และหลายกรณีการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐ เป็นเพียงการสงเคราะห์เท่านั้น เพราะข้อจำกัดในหลายทั้งงบประมาณ และบุคลากร”
ขณะเดียวกันควรเปิดให้ท้องถิ่น มีบทบาทในระบบสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระบบการดูแลสุขภาพเบื้องต้น (primary care) การเร่งโอน สถานีอนามัย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนข้อกังวลว่าจะให้บริการไม่ดีพอหรือหากำไรนั้น รัฐสามารถวางเงื่อนไข ตรวจสอบ และประเมินประสิทธิภาพ
นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน วิชาชีพ และประชาชน เป็นการอภิบาลร่วมสมัย ซึ่งการให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการบริการสุขภาพ มีความสำคัญที่จะมาช่วยแชร์ทรัพยากร ทั้งข้อมูล เครื่องมือ และบุคลากร ทำให้การบริการประชาชนดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ร่วมมือกับภาครัฐในหลายๆ โครงการมาแล้ว อาทิ การรณรงค์ตรวจคัดกรอง เพื่อป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ต่างๆ จนประสบผลสำเร็จ
“ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป จะหนีกันไปไม่ได้ ดังนั้นความร่วมมือของทั้ง ๓ ภาคส่วนจึงมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพในวันนี้และยิ่งมากขึ้นในอนาคต และภาคเอกชนเองก็ต้องการเข้ามาร่วมรับผิดชอบกับระบบสุขภาพของประเทศเช่นกัน แต่ที่ผ่านมายอมรับว่าไม่รู้จะเข้าอย่างไร เพราะยังไม่มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน”
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การดูแลระบบสุขภาพของประเทศจะต้องเลือกจุดที่สมดุลที่สุดระหว่างการอภิบาลทุกรูปแบบ ทั้งการอภิบาลแบบเครือข่าย แบบรัฐ และการตลาด โดยจัดสมดุลให้เหมาะสมกับเหตุการณ์หรือนโยบายนั้นๆ เช่น ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างกรณีเกิดโรคระบาด อาจจำเป็นต้องใช้การจัดการโดยภาครัฐเป็นส่วนหน้า เพราะต้องการการตัดสินใจที่ทันเวลาอย่างเป็นระบบ ขณะที่ต้องใช้การจัดการโดยเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ธุรกิจเข้ามาช่วยกระจายการสื่อสารและการจัดการปัญหาไปอย่างรวดเร็วให้ได้
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตไม่มีใครปฏิเสธการอภิบาลร่วมสมัย ที่ต้องดึงทั้ง ๕ ภาคส่วน มาทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ๑)ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ๒)ภาคเอกชนที่ต้องรวมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเข้ามาร่วมด้วยทั้งหมด อาทิ คลินิก ร้านขายยา หมอนวด ๓)ภาควิชาชีพ ซึ่งมีกว่า ๘-๙ วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ๔)ภาคประชาชน ซึ่งหมายถึงชุมชนและองค์กรเอกชนทั่วประเทศ และ ๕)ผู้ที่อยู่ในสาขาอื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ทั้ง ๕ ภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมสร้างระบบสุขภาพด้วยกัน ระบบจึงจะพัฒนาไปได้ไกลขึ้น
ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144