ชูสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ทรงคุณค่า | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวทีประชุมวิชชาการ ๙ ปี สช. หนุนแนวทางสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จะส่งผลให้ภาคพลเมืองเข้มแข็ง นพ.โกมาตร ชี้ช่วยสร้างจิตสำนึกคนไทยให้อยู่ร่วมกันได้บนความขัดแย้ง ด้าน ดร.เอนก ยกย่องสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ทรงคุณค่า ขณะที่ นพ.พลเดช เชื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่
 
   การประชุมวิชชาการ : ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส ๙ ปี สช. ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการเสวนาในหัวข้อ “ปฏิรูประบบสุขภาพ เส้นทางสู่จิตสำนึกประชาธิปไตย” นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สว.สส.)กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ถกแถลงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพ และแนวทาง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ถือว่ามีความก้าวหน้ามาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่เรียกว่าธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ และสมัชชาสุขภาพที่สามารถเป็นพื้นที่สื่อสารความต้องการที่ริเริ่มขึ้นของพลเมือง ให้ยกระดับไปสู่กระบวนการทางกฎหมายและนโยบายสาธารณะได้
 
   นพ.โกมาตร กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิด ๔ แนวทางหลักๆ คือ ๑. ทำให้นโยบายสาธารณะมีความชอบธรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบต่อมติในเรื่องนั้น ๒. ส่งเสริมให้นโยบายสาธารณะมีพื้นฐานมาจากเรื่องของ จิตสาธารณะอย่างแท้จริง โดยไม่มองผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือความมั่นคงของรัฐเพียงอย่างเดียว ๓. ฝึกให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันหรืออยู่ร่วมกับความขัดแย้งได้ และ ๔. ยกระดับคุณภาพการตัดสินใจเชิงนโยบายให้รับฟังข้อมูลความเห็นจากหลายฝ่าย
 
   “การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของมนุษย์ ต้องเป็นกระบวนการสื่อสารที่ไม่ถูกบังคับขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ และบุคคลที่มาร่วมพูดคุยต้องมีความตั้งใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ที่สำคัญต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับข้อมูลใหม่ด้วย” นพ.โกมาตร กล่าว
 
   ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง กล่าวว่า กระบวนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ฝึกฝนให้ทุกภาคส่วนเปิดใจรับฟังและยอมรับความคิดของคนอื่นได้ รู้จักถ่อมตัวที่จะเปลี่ยนความคิดตัวเอง ถ้านำไปสู่ความคิดที่ดีที่สุด นั่นถือเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ทรงคุณค่า
 
   “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี ต้องเป็นนโยบายของสังคม เป็นการรณรงค์เรื่องความสำนึก โดยไม่ติดกับดักหรือมุ่งแต่ผลักดันเพื่อให้เป็นนโยบายของรัฐหรือกฎหมายเท่านั้น แม้ว่าสมัชชาสุขภาพจะเสนอมติไปแล้ว แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการต่อ เราก็ควรจะเดินหน้าไป เพื่อให้เป็นนโยบายของสังคม ไม่ใช่ติดกับดักว่ารัฐบาลไม่เอาด้วยแล้วทุกอย่างจะจบลง” ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
 
   สำหรับระบอบประชาธิปไตยจะไปไกลได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชนด้วย ทุกวันนี้ถือว่าประชาธิปไตย ไปไกลกว่าการเลือกผู้แทนหรือเลือกผู้นำเพียงอย่างเดียว มีการกล่าวถึงประชาธิปไตยในฐานะที่เราเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ คือเข้าไปมีบทบาท เข้าไปกำหนด และมีจิตอาสาที่จะทำ
 
   “ไม่ใช่จะสนใจแต่ระบบเลือกตั้ง ระบบผู้นำ หรือระบบพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่จุดมุ่งหมายสำคัญคือต้องสนใจกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ มีโอกาสใช้ทรัพยากรอย่างเท่าถึง นั่นคือการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา มี ๔ ขบวนใหญ่ ที่กำลังจะเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตยของประเทศ โดยแต่ละขบวนจะไม่มีวันหยุดนิ่งและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ประกอบด้วย ขบวนของการรวมตัวกันเพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดการ ร่วมแก้ไขปัญหาของตัวเอง ในรูปแบบขององค์กรชุมชนระดับฐานราก ซึ่งปัจจุบันมีกว่า ๓ แสนองค์กรแล้ว
 
   ๒.ขบวนการของภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างกติกาของตัวเอง เช่น การทำธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล โดยขณะนี้พบว่ามีองค์กร-มูลนิธิต่างๆที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องไม่ต่ำกว่า ๒ หมื่นแห่ง และ ๓.ขบวนของการเมืองภาคประชาชน เช่น เครือข่ายต้านคอรัปชั่นฯ กลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายและตื่นตัวอย่างมาก มีผู้คนที่เข้าร่วมกว่า 10 ล้านคน และ ๔.ขบวนของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเติบโตและแข็งแรงอย่างรวดเร็ว
   “การปฏิรูปสุขภาพนับเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองเชิงคุณภาพรอบใหม่ นั่นคือการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง และประชาธิปไตยต้องเกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิด การเรียนรู้ปรับตัวเข้าหากัน ไม่ใช่การเรียนการสอน การอบรมใดๆ” นพ.พลเดช กล่าว
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ