- 349 views
เร่งสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ดร.สุวิทย์ ปลุกคนไทยร่วมมือกันปฏิรูปวันนี้ ก่อนทุนนิยมจะขยายแผลความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ ศ.สุริชัย ชวนสร้างสังคมที่มี สติปัญญาสาธารณะ ร่วมกัน พร้อมเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยระดับจุลภาค คือทางออกของประเทศ
การประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส ๙ ปี สช.” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการเสวนาหัวข้อ ลดความเหลื่อมล้ำทางออกที่ต้องไปให้ถึงของประชาธิปไตยไทย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญอีกครั้ง ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องแสดงจิตสำนึกร่วมกันว่า ไม่ปฏิรูปไม่ได้แล้ว และอย่าฝากความหวังไว้เพียง สปช. คนเดียว เพราะเป็นแค่ผู้จุดประกายปฏิรูปเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
“ผมคิดว่าการปฏิรูปจะมีทั้งคนได้และเสีย ก็ต้องใช้ความอดทน และต้องทำให้เกิดสัญญาที่ว่า...ทำอย่างไรให้คนไทย ไม่ยอม ถ้าไม่มีการปฏิรูปในครั้งนี้
เป้าหมายของการปฏิรูปคือต้องทำให้คนไทยหลุดจากกับดักความเหลื่อมล้ำ ๓ เรื่อง คือ ความเหลื่อมล้ำอำนาจ โอกาส และความมั่งคั่ง แถมยังมีปัจจัยแทรกเข้ามาคือเรื่อง คอร์รัปชั่น กับ วัฒนธรรมอภิสิทธิ์ชน เมื่อรวมแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยเสื่อมถอย ดังนั้น สิ่งที่ สปช. กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ มีทั้งสิ้น ๓๖ วาระ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ลดทุจริต และลดความขัดแย้ง เพื่อทำให้ คนที่ด้อยโอกาสและคนได้โอกาส สามารถอยู่ร่วมกันได้
ดร.สุวิทย์ มองว่า ปัจจุบัน ๔ เสาหลักของระบบ คือประชาธิปไตย ทุนนิยม ประชาสังคม และนิติรัฐ กำลังมีปัญหา ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลก เช่น ระบบทุนนิยมกลายเป็นระบบธนาธิปไตย คือเงินเป็นใหญ่ ยิ่งโลภยิ่งได้ กลายเป็นทุนสามานย์ และไม่ได้ออกแบบให้คนที่มั่งคั่ง อยู่ร่วมกับคนด้อยโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
สุดท้าย ทุนนิยมได้เข้าไปครอบงำระบอบประชาธิปไตย เช่น การซื้อเสียง นโยบายประชานิยม การคอร์รัปชั่น สองมาตรฐาน นับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม และรู้จักคำว่าพอเพียง
ประชาธิปไตยหลังจากนี้ จะแบ่งเป็น ระดับบน คือฐานที่ยังพึ่งพิงกับรัฐและเชื่อมโยงกับการเมืองโลก แต่ประชาธิปไตยในสังคม ระดับจุลภาค คือระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ช่วยสร้างคนแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เพื่อเข้ามาสู่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือแรงงาน แต่ปลดปล่อยปัจเจกชน ชุมชนออกมาเป็น พลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen ที่จะถักทอสังคมให้มีธรรมาภิบาล ความยุติธรรม แล้วพลเมืองเหล่านี้ จะสร้างประชาธิปไตยที่มีศักยภาพ
ถ้าคนเรียกหาประชาธิปไตยเฉพาะการเลือกตั้งที่อยู่ในแผ่นกระดาษ โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็อาจได้พลเมืองที่เฉื่อยชา รอพึ่งพาแต่รัฐ นโยบายประชาสังคมออกมาได้ง่ายๆ ปัญหาก็กลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าสังคมไทยมี ความสุจริตและโปร่งใส่ (Clean and Clear) เสรีและเป็นธรรม (Free and Fair) ห่วงใยและแบ่งปัน (Care and Share) จะทำให้คนรู้จักรักสังคมร่วมกัน เปลี่ยนจิตสำนึกสาธารณะ ก็จะได้ในสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
ด้าน ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะขณะนี้ได้เกิดประชาธิปไตยในหลากหลายรูปแบบและท้องถิ่น เช่น จังหวัดจัดการตนเองเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศ ให้ไปถึงเป้าหมายคือประชาธิปไตยในระดับจุลภาค แสดงให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่เรื่องคนกลุ่มเดียว แต่เป็นความเข้มแข็งของคนทั้งสังคม ที่เรียกว่าการสร้าง สติปัญญาสาธารณะ จึงจะมีแรงส่งอย่างต่อเนื่อง
สติปัญญาสาธารณะ พลังอำนาจของความรู้ ความคิด ที่ไม่ใช่อำนาจทุบโต๊ะอย่างเดียว
สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องเร่งปฏิรูปนั้น ไม่อยากให้มองแต่มิติของรายได้ แต่เรื่องของโอกาสในชีวิตก็มีความสำคัญ เช่น ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลขยายตัวสูง แต่ไม่มีใครคิดว่ามีการใช้แรงงานทาสหรือไม่ จึงต้องกลับมาคือเรื่องความพอเพียงและยั่งยืน ไม่ปล่อยธุรกิจให้อยู่บนกองบาป หรือไม่ดูแลชีวิตของคนหาปลา ไม่ดูแลมหาสมุทร
ศ.สุริชัย อยากให้มองว่าประเทศไทยเหมือนคนที่มีชีวิต ต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดิน ไม่ใช่ชีวิตของใครของมัน ดังนั้น ภาครัฐควรเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสพูด เพื่อสะท้อนความรู้สึกตนเองออกมา แม้จะเป็นความคิดต่างกัน แต่สังคมก็ต้องอดทน เพื่อให้เกิดแผ่นดินที่มีความร่มเย็น
“เราฝากความหวังว่าจะเปิดพื้นที่ ให้เกิดการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ความรู้สึก ความต้องการของคนหลายกลุ่ม ผมคิดว่า นี่คือความหวังของบ้านเมืองในช่วงปฏิรูป ได้มีโอกาสรับฟังความเห็นกันให้มาก จะทำให้เกิดพลังในหลายภาคี มาเรียนรู้ร่วมกัน
ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144