หนุนสร้างจิตสำนึกพลเมือง สร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวทีประชุมวิชชาการ ๙ ปี สช. กระตุ้นจิตสำนึกพลเมือง สู่จิตสำนึกสาธารณะ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชื่นชมกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตัวอย่างความสำเร็จ เตรียมใช้แบบเจาะลึกถึงระดับหมู่บ้าน คุณหญิงกษมา ชี้สร้างพลังอำนาจการทำงานแบบเครือข่าย
 
   การประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส ๙ ปี สช.” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการเสวนาหัวข้อ “กระบวนการมีส่วนร่วม หัวใจของการพัฒนานโยบายแบบประชาธิปไตย”
 
   นายประชา เตรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่การจะทำได้จริง ต้องยกระดับประชาชนไปสู่ความเป็น “พลเมือง” ซึ่งขณะนี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๖๕ ระบุให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ดังเช่นกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
 
   “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พยายามสร้างกลไลใหม่ๆ ให้ประชาชนได้ร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยต้องลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เช่น จัดตั้งสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องการมีองค์กร แต่เน้นกระบวนการทำงาน โดยภาครัฐและทุกฝ่าย ต้องมีส่วนร่วมสร้างหรือสนับสนุนให้เกิดขึ้น”
 
   สำหรับตัวชี้วัดความเป็นพลเมือง ประกอบด้วย ๑.การมีจิตอาสา ๒.คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ๓.มีความซื่อสัตย์สุจริต ๔.ไม่ละเมิดกฎหมาย ขณะที่ในบางประเทศวัดความเป็นพลเมือง ที่การเสียภาษีเงินได้ แต่ประเทศไทยมีแนวทางให้การเสียภาษีเป็นส่วนหนึ่งที่จะกำหนดความเป็นพลเมือง
 
   คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่สำนักงานคณะกรรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดพลังและอำนาจ ที่ทุกคนเริ่มมองเห็นและต้องการเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ดังนั้น ต้องรักษาความหลากหลายของเครือข่าย และมีกลไกเฝ้าระวังกลุ่มที่จะมาหาประโยชน์ รวมถึงความพร้อมปรับเปลี่ยนกลไกให้สอดคล้องกับยุคสมัยด้วย
 
   คุณหญิงกษมา ยกตัวอย่าง การสร้างเวทีเพื่อให้เด็กพัฒนาศักยภาพความเป็นพลเมือง ทำให้เด็กเกเร กลับเป็นคนดีได้ ขอเพียงเปิดโอกาสและมีกระบวนการสร้างสัมพันธ์ อาทิ การไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น หรือสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง ทำให้เข้าใจโรงเรียนมากขึ้น เป็นต้น
 
   ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะหลายพื้นที่ดำเนินการได้สำเร็จมาแล้ว แต่ความหมายของการมีส่วนร่วมนั้น ต้องไม่ใช่แค่การมาร่วม แต่ต้องหมายถึงการมีส่วนร่วมออกแบบและตัดสินใจนโยบายด้วย
 
   “การสร้างเครือข่ายของ สช. ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นหัวหอกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ”
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ