- 134 views
เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ เร่งรัฐบาลขันน็อตหน่วยงาน ผสานกลไกแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย หลังพบปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทุกด้านและสถิติความรุนแรงในครอบครัวติดอันดับโลก เตรียมขอฉันทมติก่อนเสนอ ครม. เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและวางยุทธศาสตร์ระดับชาติ
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ การประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครังที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการพิจารณาระเบียบวาระ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยงโดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กว่า ๒๐๐ คน
ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๒ กล่าวว่า สถานการณ์เด็ก เยาวชนไทย กำลังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเรื่องเพศ ยาเสพติด การเสพสื่อลามก ปัญหาเด็กติดเกม และค่านิยมในการบริโภคไม่เหมาะสม โดยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เกิดขึ้นทั้งในเขตเมืองและต่างจังหวัด ส่งผลให้ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นความสำคัญและร่วมกันพัฒนาระเบียบวาระ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง เข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งเมื่อได้รับฉันทมติแล้ว จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการต่อไป
“ข้อเสนอของระเบียบวาระนี้จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ที่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีฉันทมติแล้ว ในการขับเคลื่อนจะมีการบูรณาการนโยบายที่สอดคล้องกัน กับแต่ละหน่วยงานเพื่อให้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆลดลงโดยเร็วที่สุด
ในการพิจารณาระเบียบวาระ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยงได้มีภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในหลายจังหวัด ร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ จังหวัดพะเยา พัทลุง ยะลา อุบลราชธานี และกทม.รวมทั้ง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเห็นกลไกภาครัฐ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูลจาก สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี ๒๕๕๗ ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีการทำร้ายกันของคู่สมรสอยู่อันดับที่ ๓๐ ของโลก โดยผู้ชายทำร้ายผู้หญิงสูงอันดับ ๗ ของโลก สาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว มาจากการหึงหวง/นอกใจ ยาเสพติด และความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหินผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นสตรี คิดเป็นร้อยละ ๔๓ รองลงมาเป็นเด็กและเยาวชน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๕
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี จำนวนเกือบ ๑๒๕,๐๐๐ คน ให้กำเนิดบุตรก่อนวัยอันควร ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาเหล่านี้คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสื่อทุกรูปแบบที่มีเนื้อหาผลิตซ้ำความรุนแรงทางเพศ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆในปัจจุบัน ได้แก่ สารเสพติดการค้ามนุษย์แรงงานเด็กเป็นต้น
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144