สร้างเครือข่าย 'สุขภาวะพระสงฆ์' สานพลังมหาเถรสมาคม-ชุมชนร่วม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

 เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ เดินหน้าสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์ ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ ๒๕๕๗-๒๕๖๐ ดึงชุมชนรอบวัดมีส่วนร่วมดูแล เน้นอาหารใส่บาตรที่ส่งเสริมสุขภาพ ขณะที่มหาเถรสมาคมพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่
 
   พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากมีปัญหาทางสุขภาพ โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด และภาวะไขมันในเลือดสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่ใส่บาตร ทำบุญของประชาชน ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงผลเสียต่อการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระบางรูปยังมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ได้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวขึ้นมาติดตามความคืบหน้า ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยเชิญเครือข่ายพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศกว่า ๕๐ รูป รวมถึงภาคส่วนอื่นเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
 
   นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) กล่าวว่า ในเรื่องของการขับเคลื่อนมติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการไปแล้ว อาทิ กรมอนามัย ได้จัดแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่จัดที่พักผู้ป่วยไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ เป็นต้น
 
   “การขับเคลื่อนในช่วงที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการในระยะแรก ต้องยอมรับว่าอาจไม่เป็นระบบเชื่อมโยงกันเท่าที่ควร แต่การประชุมในครั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รู้เขา รู้เรา ได้รับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ และความต้องการที่สอดคล้องกับมติ เป็นการตกผลึกประเด็น เพื่อเข้าก้าวสู่การดำเนินงานในระยะต่อไป ขยายผล เต็มเติมระยะแรก ให้การดำเนินการเชื่อมโยงเป็นระบบ บูรณาการทุกหน่วยงาน สู่การขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพและก่อเกิดประโยชน์สูงสุด”
 
   นายแพทย์สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กล่าวว่า ทางกรมอนามัยเห็นความสำคัญต่อสุขภาวะของพระสงฆ์และได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพครอบคลุม ๕ แนวทาง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๗–๒๕๖๐ ได้แก่ ๑.พัฒนาแนวทางการบริการสุขภาพที่มาคุณภาพในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ๒.ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาองค์กรคณะสงฆ์ และเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาในการดูแลสุขภาพตนเองและพระสงฆ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
 
   ๓.ส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างสุขภาวะของพระสงฆ์ ๔.ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ วิจัย พัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ และ ๕.พัฒนาระบบควบคุม กำกับ ติดตามประเมินผลการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ
 
   นอกจากแผนยุทธศาสตร์ข้างต้นแล้ว ยังได้จัดหลักสูตรพระสงฆ์แกนนำด้านการพัฒนาสุขภาวะด้วย อันประกอบด้วย กิจกรรมอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำดื่ม อาหาร ขยะ อุบัติภัยและจราจร กิจกรรมการป้องกันควบคุมโรค กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมสุขอนามัย กิจกรรมแนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์ที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย และสถานการณ์สุขภาพที่เชื่อมโยงกับกิจวัตร ๑๐ อย่างของสงฆ์ กิจกรรมพระสงฆ์กับการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ และกิจรรมบทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน
 
   ด้านพระครูอมรชัยคุณ อมรปญโญ ในฐานะประธานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกเครือข่าย ทำให้ได้ร่วมรับรู้ รับทราบว่าหน่วยไหนได้ดำเนินการสิ่งใดไปแล้วบ้าง ทำอย่างไรที่พระภิกษุสงฆ์จะได้รับการดูแลให้มีสุขภาวะที่ดี และหาเจ้าภาพมารับผิดชอบให้ชัดเจน
 
   “การประชุมในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ท้องถิ่น เป็นต้น ได้มาแสดงความคิดเห็น และเปิดตัว อาสาพร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุน สิ่งที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ก็ร่วมกันหาช่องทาง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการที่พระภิกษุสงฆ์จะมีสุขภาวะที่ดีขึ้น”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ