คืบหน้ายกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ กรมโรงงานฯ เล็งห้ามใช้ใน 5 ผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

    ถกห้ามใช้แร่ใยหินไครโซไทล์คืบ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมดำเนินการศึกษาเลิกใช้ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยาง ท่อน้ำ และผ้าเบรก ด้านนักวิชาการเฝ้าระวังโรคแจงเทคโนโลยีไทยด้อย แนะส่งแพทย์ศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากแร่ใยหินในต่างประเทศที่มีประสบการณ์ ก่อนนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย
 
   เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีการจัดประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าและร่วมวางแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน นำโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษา สช. ในฐานะประธานที่ประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มตัวแทนภาคธุรกิจจากสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า ภาควิชาการทางการแพทย์ และเครือข่ายผู้บริโภค ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวถือเป็นการนัดหารือครั้งแรก หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลังการประชุมสิ้นสุดลงว่า ผลการดำเนินเป็นที่น่าพอใจและมีความชัดเจนหลาย ๆ เรื่อง ใน 4 ยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะยุทธศาตร์แรก การยกเลิกการใช้และป้องกันอันตรายโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการหาคนกลางมาศึกษาถึงกรอบระยะเวลาความเป็นไปได้ในการยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ใน 5 ผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยาง ท่อน้ำ และผ้าเบรก ที่คาดว่าจะยกเลิกได้ ซึ่งถือว่ามีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะผลที่ได้จะนำไปสู่การกำหนดยกเลิกใช้มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แร่ใยหินไครโซไทล์
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ที่เหลือด้วยว่า ส่วนการส่งเสริม สนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลด และ เลิกใช้แร่ใยหิน การเผยแพร่ความรู้ และประชาสัมพันธ์ให้กับสาธารณชนทราบ การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวินิจฉัยโรค ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้และได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างกรณีการใช้สารทดแทน ภาคเอกชนใหญ่ 2 รายที่เคยใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ยืนยันว่าต้นทุนราว 10% ที่เพิ่มขึ้น หากเปลี่ยนมาใช้สารแทนทดนั้น อยู่ในวิสัยที่ภาคธุรกิจยอมรับและทำได้จริง โดยที่ทั้ง 2 บริษัทมีมุมมองว่าต้องคำนึงถึงผลด้านสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
 
   ขณะที่ นางสมศรี สุวรรณจรัส ผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใกล้ตัวมากที่สุด คาดว่าอาจใช้เวลาศึกษาราว 6 เดือนในการศึกษาถึงผลกระทบในเรื่องนี้ ก่อนจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าคำสั่งการเลิกใช้แร่ใยหินในทันทีในกรอบระยะเวลา 1 ปีที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์นั้น อาจทำไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ เพราะขณะนี้เพิ่งเริ่มการศึกษาถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างจริงจังหากมีการเลิกใช้แร่ใยหินชนิดนี้ ก่อนจะประกาศให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ และเตรียมการรองรับ
 
   “เป็นเรื่องยากที่จะประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ภายใน 1 ปี เพราะถ้ายกเลิกโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ผลเสียที่ตามมาอาจรุนแรงกว่าผลดีที่อยากให้เกิดได้ และคิดว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องอาศัยเวลา ดูความเหมาะสมว่าสังคมทุกภาคส่วนยอมรับได้หรือไม่ เพราะสารทดแทนเองนั้นก็ต้องนำเข้าทั้งหมด อีกทั้งควรศึกษาให้ถ่องแท้ว่าสารทดแทนนั้นปลอดภัยจริง มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาแบบรวดเร็วทันใจแต่แก้ไม่เสร็จจริง จะเป็นแค่การย้ายปัญหาและเรื่องนี้ก็ไม่จบสิ้น ฉะนั้น การยกเลิกใช้แร่ใยหินชนิดดังกล่าวไม่ควรพูดถึงเรื่องกรอบเวลา แต่ควรหันมาพุ่งที่เป้าหมายของการยกเลิก และกำหนดเป็นมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในแบบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว น่าจะเห็นผลได้ดีและชัดเจนมากกว่า” นางสมศรีแจง
 
   ด้าน ผศ.พญ.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวินิจฉัยโรคว่า เรื่องระบบเฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นจากการใช้แร่ใยหินโครโซไทล์สำหรับประเทศไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก เพราะแม้แต่เทคโนโลยีระดับสูงภายในประเทศ ก็ยังไม่สามารถวินิจฉัยระบุว่าเส้นใยในสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ใช่แร่ใยหินโครโซไทล์หรือไม่ หรือแม้แต่การตรวจชิ้นเนื้อว่าโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่ประชาชนเป็นอยู่นั้น เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นหรือเกิดจากแร่ใยหินโคลโซไทล์ ก็ยังไม่สามารททำได้เพราะต้องใช้ห้องแล็ปพิเศษ อีกทั้งการคัดกรองผู้ป่วย ก็ไม่มีระบบการระบุข้อมูลว่าประชาชนสัมผัสแร่ใยหินดังกล่าวหรือไม่ ทำให้การวินิจฉัยโรคได้ผลต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
 
   “หนทางที่ต้องทำต่อไป อยากเสนอว่าควรมีการส่งผู้เชี่ยวชาญ เช่น กลุ่มอายุรแพทย์ แพทย์พยาธิ ไปศึกษายังประเทศที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ อย่างญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา แล้วนำความรู้กลับมาเผยแพร่ในประเทศไทยในระดับตติยภูมิ พร้อมกับสร้างแล็ปที่มีศัยกภาพในการรองรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อการดูแลและสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดให้ดีขึ้นได้ และยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเรื่องระบาดวิทยาการควบคุมโรค ที่จะทำให้คนรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด เพราะอะไร และจะมีวิธีการป้องกันหรือรักษาอย่างไร” ผศ.พญ.พิชญา กล่าว.

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ