มุ่งสกัดปัญหาเชื้อดื้อยา สินค้าเกษตร อาหาร ยารักษาโรค | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   วิกฤตการณ์เชื้อดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่มีการประชุมหารือเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบาย เตรียมเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ในเดือนธันวาคมนี้
 
   โดยเมื่อวันที่ ๑๗ ส.ค. ๒๕๕๘ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยวิกฤตการณ์เชื้อดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ครั้งที่ ๑ ซึ่งมี ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อระดมความคิดเห็นคณะทำงานฯ ที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเด็นมีความชัดเจนมากขึ้น และนำบทสรุปไปรับฟังข้อคิดเห็นในวงกว้างต่อไป
 
   “ปัญหาเชื้อดื้อยาแต่เดิม เคยจำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลประมาณ ๘๐% แต่ปัจจุบันเชื้อเหล่านี้กระจายอยู่ในชุมชนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ทุกคนต่างมีโอกาสได้รับเชื้อดื้อยาทั้งสิ้น” ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองประธานคณะทำงานฯ ชี้ถึงสถานการณ์ของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในปัจจุบัน
 
   ขณะที่มุมมองที่ภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐหยิบยกกรณีเชื้อดื้อยาที่มาจากอาหารและพืชผักจากการทำเกษตรที่ใช้ยาปฏิชีวนะในระดับสูง ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืชผักผลไม้ รวมถึงกรณีที่ประชาชนซื้อยารับประทานเอง ก็ทำให้ความเสี่ยงของภาวการณ์นี้ ยิ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น
 
   หลายหน่วยงานมองตรงกันว่า ปัญหาเชื้อดื้อยา จะสร้างแรงผลักดันกลับไปยังผู้จ่ายยาไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ร้านขายยา หรือผู้ผลิตอาหาร พร้อมกับขอให้มุ่งเน้นในเรื่องการให้ความรู้ที่ถูกต้องไปยังผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ และการผลิตสื่อที่เข้าใจง่าย มุ่งตรงไปยังเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น
 
   “การผลักดันวาระนี้ มี ๒ เรื่องที่ต้องทำคู่กันไป คือ รณรงค์ใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกทิศทาง คุ้มค่า และเหมาะสม และหาทางป้องกันด้วยการควบคุมไม่ให้เชื้อดื้อยาแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งยากต่อการแก้ไข” ศ.เกียรติคุณสยมพร ศิรินาวิน ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ให้ความเห็น เพื่อวางกรอบการทำงานให้ชัดเจนขึ้น
 
   นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเสนอให้มีการตีกรอบประเด็นที่จะนำไปรับฟังความเห็นในเวทีใหญ่ต่อไป โดยโฟกัสไปที่ “แบคทีเรียดื้อยา” เป็นหลัก
 
   ในช่วงท้าย ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ได้สรุปถึงประเด็นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องการรวบรวมชุดข้อมูลความรู้ในเรื่องแบคทีเรียดื้อยา และการนำข้อค้นพบจากการงานวิจัยต่างๆมาเผยแพร่ รวมไปถึงนำไปสื่อสารให้ลงไปถึงระดับชุมชน
 
   พร้อมกับการให้ประชาชนรับรู้ถึงทางเลือกของการตัดต้นทางของแบคทีเรียดื้อยาด้วยการทำเกษตรแบบยั่งยืนด้วย
 
   โดยย้ำว่าให้นำหลักการทำงาน “สุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นตัวตั้ง”เป็นเป้าหมายสูงสุดของประเด็นวิกฤตการณ์เชื้อดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการที่ทุกฝ่ายได้มาร่วมมือกัน
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ