คมส.หนุนยกระดับมติสมัชชาฯ ขับเคลื่อนสู่ ‘วาระแห่งชาติ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เรียกว่าเดินหน้าในทุกๆ มิติ ... สำหรับ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง ๘ ครั้ง ที่ผ่านมา บวกลบคูณหารแล้วมีจำนวน ๖๙ มติ โดยกลไกขับเคลื่อนมติที่เรียกว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” หรือ คมส. ที่มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
 
   ในปีนี้ คมส. มีการประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ ได้มีการประชุม คมส.ครั้งที่ ๒ เพื่อติดตามความก้าวหน้าประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
 
   โดย น.พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข รายงานความก้าวหน้า คมส. ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ เรื่อง “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีคนหลั่งไหลเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองเพิ่มขึ้น และผู้ให้บริการสุขภาพมีมาก แต่การดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริการระดับปฐมภูมิยังไม่เพียงพอ
 
   ดังนั้น ทาง สธ. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยระบบสุขภาพเขตเมือง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ก่อนขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติต่อไป
 
   ในส่วนของมติ “นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” นพ.ศุภกิจ รายงานว่า จะจัดทำยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายใน ๑ ปี พร้อมทำแผนปฏิบัติการ สร้างมาตรฐานฉลาก รวมถึงเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ นี้ เพื่อให้นโยบายให้ลดบริโภคเกลือเป็นวาระแห่งชาติ
 
   ประเด็น “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ขยายวงมาถึงประเทศไทยแล้ว โดยในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ ต้องการให้มีการจัดการปัญหาอย่างบูรณาการ มีกลไกหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะประสาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันผลักดันประเด็น วิกฤติการณ์เชื้อดื้อยาฯ ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปี ๒๕๕๙-๖๑ โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
   นอกจากนั้น นพ.ศุภกิจ ยังรายงานความก้าวหน้าของประเด็น “การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์” มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ซึ่งมีการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯสุขภาพ ไม่มากนัก และมอบให้ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา อนุกรรมการฯ จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตัวแทนภาคประชาชน เป็นเจ้าภาพหลักในการวิเคราะห์ปัญหา และทบทวนว่าต้องดำเนินการเพิ่มเติมอย่างไร
 
   รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการ คมส. และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภค พยายามผลักดันให้มีฉลากแสดงปริมาณเกลือและโซเดียมในสินค้า ซึ่งต้องทำให้เด็กๆ สามารถเข้าใจง่ายด้วย
 
   ส่วนในประเด็น วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาฯ เครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ด เพื่อให้ใช้วัตถุดิบจากเนื้อสัตว์ ที่เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และได้นำปัญหาเชื้อดื้อยา เป็นประเด็นหลัก ในการขับเคลื่อน วันผู้บริโภคสากล ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙
 
   อ.เจษฎา มิ่งสมร กรรมการ คมส. กล่าวว่า มติสำคัญที่เกี่ยวกับสุขภาวะประชาชน สามารถดำเนินการผ่าน “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ได้ จะทำให้ผู้คนในสังคมลุกขึ้นมาช่วยกัน สามารถเชื่อมโยงโรค กับงานส่งเสริมป้องกันรักษาของกระทรวงสาธารณสุข
 
   “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ดีขึ้นได้ สามารถบอกว่า ระบบสุขภาพขณะนี้ มีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร ซึ่งจะดีกับชุมชนด้วย เป็นสิ่งที่เปิดกว้างว่า กำลังคนด้านสุขภาพ ไม่ใช่มีแต่บุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้ทุกคนได้รับผิดชอบต่อระบบสุขภาพ”
 
   สำหรับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ได้รายงานความก้าวหน้าต่อ คมส. ใน ๓ ประเด็น ประกอบด้วย
 
   ๑. การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่ขณะนี้มุ่งเน้นให้ชุมชนคนพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการลดปัญหาอุบัติเหตุมากขึ้น
 
   ๒. กลุ่มมติเกษตร อาหาร และโภชนาการ มอบให้ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อน โดยโฟกัสไปที่อาหารที่ผลิตจากสินค้าเกษตร ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่ระดับ ต้นน้ำ คือมาตรฐานการผลิตและนำเข้าที่ปลอดภัย กลางน้ำ คือการบังคับใช้กฎระเบียบ มีปัญหาอะไรบ้าง และต้องปรับปรุงอย่างไร และปลายน้ำ คือพื้นที่ชุมชน ที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ (Small Success) ในการลดใช้สารเคมีเกษตร
 
   ๓. กลุ่มเด็กกับสื่อ ได้แก่ ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว และการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชม. : กรณีเด็กไทยกับไอที มอบให้ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก เป็นประธาน และจะประสาน “ครูหยุย” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. เข้าร่วมต่อไปด้วย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ