- 498 views
เวที สช.เจาะประเด็น หนุนรัฐบาลทำตามสัญญา เดินหน้าส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมติดตามความคืบหน้าในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ เดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่กรมอนามัยเผย สธ.เป็นต้นแบบโครงการ Bike for all สร้างเลนจักรยาน ๖ กม. รณรงค์บุคลากรทั่วประเทศ ด้านกรมทางหลวงชนบท แจงพัฒนาเส้นทางรองรับ ๒๖๕ กม. หวังเชื่อมวิถีชุมชนท้องถิ่น พร้อมเปิดเวทีให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมพัฒนา นักปั่น แนะ กทม. ขยายเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน-บีทีเอส เพิ่มที่จอดจักรยานห้างสรรพสินค้า
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ ๕/๒๕๕๕ สุขภาวะบนหลังอาน จักรยานคนเมือง ณ ห้องประชุมสานใจชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย, นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย, นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นายสุรพันธุ์ ไตรรัตน์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญด้านก่อสร้างทาง กรมทางหลวงชนบท และนายชัยยุทธ โล่ธุวาชัย ผู้ก่อตั้งชมรมจักรยาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วม
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ มีมติเรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” แล้ว มติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยประกาศสนับสนุนนโยบายการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่ออย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการใช้จักรยานในวิถีประจำวัน ควรมุ่งเน้นกลุ่มชาวบ้าน คนในชุมชน หรือประชาชนทั่วไปเป็นหลัก เนื่องจากการวิจัยพบว่าประชาชนกลุ่มนี้จะใช้จักรยานในการเดินทางระยะใกล้ๆ ไม่เกิน ๓ กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นคนกลุ่มใหญ่และมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกาย โดยเชื่อว่าเมื่อคนกลุ่มใหญ่นิยมใช้จักรยานแล้ว จะสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบได้ในที่สุด
การพัฒนาโครงสร้างและเส้นทางจักรยานในชุมชนต่างๆ เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบัน ยังมีเมืองหรือพื้นที่ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ไม่มากนัก อาทิ กทม. หรืออำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นต้น ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ จึงควรหันมาใส่ใจประเด็นนี้อย่างเป็นระบบมากขึ้น”
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนดำเนินการ เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือ Bike for all สำหรับประชาชนทั่วไป โดยเป็นต้นแบบด้วยการสร้างเลนจักรยานรอบพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขระยะทาง ๖ กิโลเมตร ซึ่งในช่วงปี ๒๕๕๗ กรมอนามัยได้จัดกิจกรรม Bike for all อาทิ ให้ยืมจักรยานปั่นเพื่อสุขภาพ ส่งเอกสาร หรือเดินทางใกล้ๆ รวมทั้งชวนบุคลากรในกระทรวง ปั่นจักรยานร่วมกับผู้บริหารทุกวันเวลา ๑๖.๓๐-๑๘.๐๐ น. อีกด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมปั่นรณรงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรมปั่นจักรยานของทั้ง ๔ ภาคส่วน มาบรรจบกันที่บริเวณท้องสนามหลวง
กรมอนามัยยังประสานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมปั่นเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ในวันสำคัญ ณ ศูนย์อนามัยทั้ง ๑๒ แห่ง ประกอบด้วย วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ จะมีการจัดกิจกรรมสำหรับการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ภายใต้แนวคิด “Bike Idol” หรือ “จักรยานบันดาลใจ” ทั้งในรูปของการเสวนา การรณรงค์ส่งเสริมการใช้ในชีวิตประจำวัน และให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้จักรยาน โดยผู้เชี่ยวชาญของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมงาน ในการส่งเสริมการใช้จักรยานแก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมในเวทีกลางและบูทนิทรรศการในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน นำหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานและจัดแสดงความก้าวหน้าในการดำเนินการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาด้วยอีกด้วย
นายสุรพันธุ์ ไตรรัตน์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญด้านก่อสร้างทาง กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช. ได้สนับสนุนโครงสร้างเส้นทางใช้จักรยานอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ คือ ๑.เส้นทางจักรยานที่เชื่อมโยงในชุมชน ซึ่งส่วนมากจะใช้ไหล่ทางของถนนที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้จักรยาน เพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งมีถนนตัดผ่านระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆ สามารถไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ และ ๒.เส้นทางจักรยานเพื่อสันทนาการ สนับสนุนการท่องเที่ยว การออกกำลังกาย แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ชื่นชมทัศนียภาพสองข้างทาง เช่น บริเวณหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
ที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการเส้นทางจักรยานไปแล้วจำนวนมาก ได้แก่ ในพื้นที่ภาคใต้ระยะทาง ๔๘ กิโลเมตร, ภาคกลาง ๙๑ กิโลเมตร และภาคตะวันออก ๑๐๐ กิโลเมตร ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการอีก ๒๖ กิโลเมตร รวมแล้วคิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๒๖๕ กิโลเมตร
นายสุรพันธุ์ กล่าวว่า ในการพัฒนาเส้นทางจักรยาน ทช. ต้องประชุมร่วมกับเจ้าของที่ดิน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้ง ๒ ข้างทาง ว่าเห็นด้วยหรือไม่ในการขยายไหล่ทาง เพื่อขอใช้พื้นที่ประมาณ ๑.๕ เมตร สำหรับให้จักรยานวิ่งได้ ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ที่ผ่านมาก็มีบางชุมชนคัดค้าน เช่นบริเวณข้างทางเป็นทำเลค้าขาย เกรงว่ารถยนต์จะจอดซื้อสินค้าไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางจึงขึ้นกับความมือกับประชาชนแต่ละกลุ่มด้วย
“ทช. พร้อมจะพัฒนาเส้นทางจักรยานอย่างเต็มที่ ตามศักยภาพที่เราสามารถดำเนินการได้ โดยเป้าหมายหลักคือเน้นช่วยเหลือชาวบ้านให้มีเส้นทางขับขี่จักรยาน ระหว่างหมู่บ้าน ตำบล ชุมชน เช่นไปทำบุญที่วัดหรือขี่จักรยานเพื่อสุขภาพเป็นหลัก แทนที่จะใช้มอเตอร์ไซค์ซึ่งมีอันตรายจากรถที่วิ่งด้วยความเร็ว
ด้าน นายชัยยุทธ โล่ธุวาชัย ผู้ก่อตั้งชมรมจักรยาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยาน มีการนำเสนอมานานและมีข้อมูลสนับสนุนมากมาย แต่ปัญหาคือการดำเนินงานยังมีอุปสรรค ส่งผลให้ข้อเสนอต่างๆ ไม่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงต้องการเห็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งมีอำนาจดำเนินการในหลายเรื่อง เช่น การสร้างที่จอดจักรยานอย่างเหมาะสมและปลอดภัยบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงการออกนโยบายให้ห้างสรรพสินค้าหรือร้านต่างๆ มีที่จอดจักรยาน เป็นต้น
ขณะที่การสร้างและขยายเส้นทางจักรยานบนท้องถนน แม้จะเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ แต่เข้าใจว่าทำได้ยากโดยเฉพาะในถนนบางเส้น รวมทั้งอยากเรียกร้องให้ กทม. จัดหาสถานที่จอดจักรยานหรือนำ โครงการปันปั่น ไปช่วยอำนวยความสะดวก ให้ผู้เดินทางมาต่อรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144