- 47 views
เสียงสะท้อนจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และประชาสังคมในพื้นที่ต่างๆ ที่มาร่วมกันแสดงความเห็นต่อ “แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔)” ณ ห้องแซฟไฟร์ ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเด็นนี้ ที่จะมี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักตาม “โรดแมป” ร่วมกับ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔) เป็นการขับเคลื่อนตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ขณะที่ แผนยุทธศาสตร์ฯฉบับล่าสุดนี้ เปรียบได้กับแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ รองรับการใช้จักรยาน ทั้งถนน จุดจอดจักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึง ทัศนคติ ของคนทำงาน และประชาชนทั่วไป
โดยยุทธศาสตร์ ๗ ปีดังกล่าว ได้ผ่านการรับรองจาก “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อ.เจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ระบุว่า หลังจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นแล้ว จะมีการนำเสนอเข้า ครม. เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ แผนที่ปฏิบัติได้ ดังนั้น จำเป็นต้องดึงให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และวิชาการ”
หลังจากนี้ เราจะต้องไปถอดบทเรียนของแต่ละพื้นที่ ที่ทำให้จักรยานเข้าไปสู่ในชีวิตประจำวันว่าสำเร็จได้เพราะอะไร เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการผลักดันประเด็นสาธารณะอื่นๆต่อไป
“การใช้จักรยานต้องไม่เป็นเพียงกระแส แต่เป็นประเด็นที่สามารถจุดประกายให้คนเปลี่ยนวิธีคิด และทัศนคติที่ดีให้กับสังคมในทุกเรื่อง ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความเห็นอกเห็นใจกัน รวมถึงวินัยของคนในประเทศ”
ไม่แตกต่างจาก ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ที่มองข้ามกระแสปั่นจักรยานแบบนักแข่ง ไปสู่การขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน
“การขี่จักรยานต้องตอบโจทย์ คนส่วนใหญ่ในชุมชน” เป็นแนวทางที่ ดร.ธงชัย ย้ำมาตลอด และบอกว่า แม้วันนี้กระแสจักรยานจะ “จุดติด” แล้ว แต่ยังมีสิ่งต้องทำต่อ คือการปรับวิธีคิดให้การขี่จักรยาน ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของสังคมและวิถีชีวิตแบบไทยๆในชุมชนต่างๆ
“ไม่ใช่ไปเลียนแบบประเทศอื่น เช่น ไปเน้นสร้างถนนขี่จักรยานนอกเมือง หรือบนทางหลวง หรือไม่ใช้การขี่จักรยานเพื่อจัดงานอีเวนท์”
ดร.ธงชัย กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงาน อย่างเช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าใจในวิธีคิดแบบตอบโจทย์คนส่วนใหญ่แล้ว หลังจากชมรมฯได้เข้าหารือ เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุน เพราะปัจจุบันมีชุมชนกว่า ๑๕๐ แห่ง ที่กำลังร่วมกับชมรมฯผลักดันให้เป็นชุมชนจักรยาน
“การส่งเสริมการขี่จักรยานจริงๆ คือทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปสามารถขี่จักรยานภายในชุมชนใกล้ๆของเขาได้ ไม่ใช่การมองแต่การสร้างถนน หรือการซื้อจักรยานแจกฟรี เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน”
ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภารกิจหลังจากนี้ ยังต้องเข้าพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆต่อไป เพื่อให้มองเห็นแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบนความยั่งยืนที่แท้จริง และให้เขาไม่มองว่าเป็นภาระ แต่เป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องช่วยกัน
โดยเฉพาะ สนข.ในฐานะหน่วยงานหลัก ซึ่งหากมองเป็น ภารกิจ ก็สามารถปรับให้การใช้จักรยานเชื่อมต่อกับแผนการขนส่งมวลชน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้ขี่จักรยาน ซึ่งเป็นคนอีกกลุ่มในสังคมได้
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144