- 20 views
ที่ประชุม คมส. ซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ยังมีการพิจารณาเรื่อง “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓
โดย นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ได้รายงานความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการขับเคลื่อนมตินี้
นพ.ปรีชา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทย ยังคงนำเข้าแร่ใยหินปีละกว่า ๕ หมื่นตัน และจากการสุ่มตรวจกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด พบว่าส่วนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสหรือสูดดมแร่ใยหิน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กระบวนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีความอ่อนไหวต่อปัญหาการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับแนวทางที่ควรขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ก็คือขอให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นบัญชีแร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ ๔ คือห้ามนำเข้าหรือมีไว้ครอบครอง และมียุทธศาสตร์ในการลดปริมาณการใช้ที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันขอให้ กระทรวงมหาดไทย ควบคุมรื้อถอนก่อสร้างและกำจัดวัสดุเหลือใช้ที่มีแร่ใยหิน และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สนับสนุนการติดฉลากสินค้า เพื่อเตือนผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
ในมุมมองของผู้แทนจาก คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) นั้น เห็นว่า เรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมควรเข้ามารับผิดชอบ เพราะ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่ก็ควรให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว ก่อนนำไปสู่การยกเลิกต่อไปในอนาคตด้วย
ด้าน ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อย่างเป็นระบบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการศึกษาขั้นตอนการลด/เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา , ท่อน้ำ , ผ้าเบรก ฯลฯ อย่างมีขั้นตอน รวมถึงการส่งเสริมให้เอกชน เร่งหาสารทดแทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ เป็นต้น
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ ที่ให้ความสำคัญกับ “Health in all policy” หรือทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและทุกๆ กระทรวงด้วย
ที่ประชุม จึงขอให้กรมควบคุมโรค จัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ การดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงผลกระทบในมิติต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และรายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔ เพื่อเสนอผ่านช่องทางกระทรวงสาธารณสุข และประสานความร่วมมือ เพื่อลดการใช้แร่ใยหินต่อไป
นอกจากนั้น ขอให้คณะทำงานขับเคลื่อนมติฯ จัดการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการลดการใช้แร่ใยหิน ตามข้อมูลและเหตุผล โดยใช้ผลการศึกษาของกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับข้อมูลทางวิชาการด้านอื่นๆ ประกอบ เช่น ด้านอาชีวอนามัย ด้านการใช้วัสดุทดแทน
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143