เด็กไทยนับหมื่นจมน้ำตาย ทุกภาคส่วนเร่งผลักดันนโยบายสาธารณะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในจำนวนเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปีพบการเสียชีวิตอันดับ ๑ มาจากการจมน้ำเฉลี่ยปีละ ๑,๒๓๔ คน หรือวันละ ๓-๔ คน
 
   ระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๕๖ หรือในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มียอดเสียชีวิตรวมถึง ๑๔,๗๘๙ ราย เป็นการเสียชีวิตในแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด ๔๙.๔ % และมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันหลายๆคน
 
   ในการประชุมระดมความเห็นจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายยังคงเน้นย้ำถึงสถานการณ์ และความจำเป็น ที่ต้องแสวงหาความมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สถิติลดลงเหลือให้น้อยที่สุด
 
   “ทำอย่างไรให้เด็กเอาชีวิตรอดในน้ำได้” เป็นโจทย์ที่ ชฎาพร สุขสิริธรรม ศุนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ตอกย้ำในที่ประชุมอีกครั้ง
 
   ทุกโรงเรียนมีหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด พร้อมกับปรับระบบการเรียนการสอนใน โรงเรียนพละศึกษา ซึ่งจะมาเป็นครูพละของเด็กโรงเรียนต่างๆในอนาคตด้วย เพื่อให้สอดรับกัน
 
   “ที่ผ่านมาเราเริ่มโครงการ ๓ นาที ๑๕ เมตรไปแล้วบางส่วน เพื่อให้เด็กทุกคนต้องลอยตัวในน้ำได้ ๓ นาที และสามารถเคลื่อนตัวในน้ำเพื่อเข้าหาฝั่งได้ในระยะทาง ๑๕ เมตร เพราะเด็กส่วนใหญ่จะว่ายห่างจากฝั่งไม่ไกล หากลอยตัวในน้ำได้ และว่ายได้ถึงระยะดังกล่าว เด็กจะเอาชีวิตรอดได้”
 
   ชฎาพร ย้ำอีกว่า ทักษะที่ต้องทำให้เด็กจดจำ คือ “ตะโกน/ยื่น /โยน” หมายถึง เมื่อมีปัญหาต้องตะโกนให้คนช่วยเหลือ ส่วนเพื่อนหรือพี่น้องที่มาด้วยกันต้องยื่น หรือโยนอุปกรณ์ออกไป เพื่อให้เด็กที่อยู่ในน้ำเกาะ ส่วนคนบนฝั่งก็ดึงขึ้นมาได้
 
   ทั้ง ๕ ทักษะข้างต้น จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เด็กรอดได้ นอกจากสองทักษะข้างต้นแล้ว ต้องให้เด็กเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยง และสร้างนิสัยรองขอและใส่ชูชีพเมื่อต้องเดินทางทางน้ำด้วย
 
   เรือตรีอดิศักดิ์ สุวรรณปกร สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ย้ำว่า เรื่องนี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ หากเราสอนเด็กให้มีทักษะลอยตัวในน้ำให้เป็น เห็นจากจำนวนเด็กจมน้ำเสียชีวิต ลดลงเหลือ ๑,๐๘๑ คนในปีที่ผ่านมา จากช่วงปี ๒๕๕๐ ที่จำนวน ๑,๕๐๐ คน เป็นผลจากการทำงานของคนกลุ่มเล็กๆที่ผ่านมา และการนำร่องในบางโรงเรียนในต่างจังหวัด
 
   เรือนตรีอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เราจำเป็นต้องทำให้มีการเรียนการสอน “การลอยตัวในน้ำและเอาตัวรอดในน้ำ” ในทุกโรงเรียน เพื่อให้เด็กทุกคนพ้นจากความเสี่ยง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษา จึงจะสร้างทักษะให้เด็กเอาตัวรอดในน้ำได้อย่างทั่วถึง จากปัจจุบันมีเพียงบางโรงเรียนเอกชนเท่านั้นที่ดำเนินการอยู่
 
   ข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ ทาง คณะอนุกรรมการวิชาการฯ ที่มี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธาน จะนำไปพัฒนา ร่างข้อเสนอเรื่อง “การป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กและเยาวชน” เพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ในเดือนธันวาคมนี้ต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ