ตั้งทีมยกร่างแผนปฏิบัติการ คุ้มครองเด็กไทยใช้สื่อออนไลน์ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ได้แต่งตั้ง “คณะทำงานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ” โดยมี ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก เป็นประธาน
 
   ทั้งนี้ เพื่อสร้างกลไกการทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒ ประเด็น ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ เรื่อง “ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว” และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ เรื่อง “การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชม. : กรณีเด็กไทยกับไอที” ให้มีความต่อเนื่อง
 
   “ภารกิจหลักของคณะทำงานฯ จะบูรณาการการทำงานร่วมกับประเด็นเด็กกับสื่อออนไลน์ ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ และจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขับเคลื่อนงานเด็กกับสื่อออนไลน์ ที่มาจากหลายภาคส่วนมารองรับ รวมถึงผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
 
   โดย คณะทำงานฯ มีการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดกรอบของการทำงาน ครอบคลุมการคุ้มครอง ทั้งกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี และกลุ่มเยาวชน อายุ ๑๘-๒๕ ปี ตามกฎหมาย
 
   พร้อมทั้งยังได้ร่วมกัน เสนอหน่วยงานและองค์กร ที่จะมาเป็นคณะอนุกรรมการฯ ขับเคลื่อนงานเด็กกับสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นกลไกการทำงานในระยะยาว ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ รวมถึงนักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการนัดประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในวันที่ ๓๐ มี.ค.นี้ต่อไป
 
   อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำว่า เราจำเป็นต้องผลักดันให้มี ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ และเสนอให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อรองรับการทำงานของคณะกรรมการระดับชาติ มาทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังในระยะยาว
 
   ขณะที่ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ จากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในที่ประชุมว่า ควรคำนึงถึงความสำคัญในการวางกลไกการคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ มากกว่าให้ความสำคัญกับประเด็นเสรีภาพในการใช้สื่อของเด็ก
 
   “อินเตอร์เน็ตเหมือนการสร้างถนนเข้าถึงบ้าน ซึ่งมีทั้งผลบวกและลบ จำเป็นที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ( ISP : Internet Service Provider) จะต้องเข้ามาทำหน้าที่แยกระบบการเข้าถึงสื่อทางอินเตอร์เน็ต ของกลุ่มเด็กเยาวชน และกลุ่มผู้ใหญ่ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งบางประเทศ อาทิ อังกฤษ ได้ทำแล้ว โดยกลุ่มผู้ให้บริการอย่างดีแทค ก็เห็นด้วยและมีแนวทางจะดำเนินการต่อไป” นพ.อดิศักดิ์ระบุ
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ