- 63 views
เช้าวานนี้ (วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง คณะทำงานรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ นำทีมโดยนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยคณะทำงานประกอบด้วย ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธิ์ นายเจษฎา มิ่งสมร และนางกรรณิการ์ บันเทิงจิตร ได้ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำสมัชชาสุขภาพไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และพิจารณาประกอบการประกาศรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่ง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายกเทศมนตรีนครตรัง และภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนอีกกว่า ๖๐ คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้
นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ให้การต้อนรับและกล่าวต่อที่ประชุมว่า “จากการศึกษาพัฒนาการของจังหวัดพบว่าที่นี้มีการนำสมัชชาสุขภาพมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่มากว่า ๑๐ ปี จนมีการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังอย่างเป็นระบบในปี ๒๕๕๓ มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประมาณกว่า ๒๐๐ เครือข่าย และมีมติร่วมกัน ๔ เรื่อง คือ (๑) พฤติกรรมบริโภคปลอดโรคปลอดภัย (๒) การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัว การดูแลผู้สูงอายุและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ (๓) มาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิ และ (๔) เกษตรปลอดภัย ซึ่งมติดังกล่าวทางจังหวัดกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปบรรจุเป็นแผนงานโครงการต่าง ๆ และกำหนดให้มีการจัดระบบการติดตามความก้าวหน้าเป็นประจำ”
“กระบวนการสมัชชาสุขภาพยังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมมือกันทำให้เมืองตรังเป็นเมืองแห่งความสุขซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดได้” ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวทิ้งท้าย
ทางด้าน นพ.จำรัส สรพิพัฒน์ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง กล่าวว่า “หากจะให้กล่าวโดยสรุปต้องบอกว่าจังหวัดตรังได้เข้าร่วมขบวนสมัชชาสุขภาพมาอย่างยาวนาน แต่เพิ่งมีการจัดประชุมอย่างเป็นระบบ โดยประยุกต์รูปแบบสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาใช้ ในปี ๒๕๕๓ และมีมติร่วมกัน ๔ เรื่อง ในแต่ละเรื่องเราได้มีการตั้งกลไกติดตามความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ บางเรื่องก็ดำเนินการไปได้ด้วยดี บางเรื่องก็ยังต้องใช้ความพยายามในการสานพลังจากเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกันต่อไป ต้องเรียนว่าเครื่องมือนี้ได้สร้างความเป็นเพื่อน เพราะเป็นเวทีที่เชื้อเชิญให้หน่วยงานต่าง ๆ มาพูดคุยกัน เมื่อมีการพูดคุยกันบ่อย ๆ ความเป็นเพื่อนก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และช่วยกันทำงาน มีการแบ่งปันความคิดเห็น สนับสนุนงบประมาณในการทำงานตามมติสมัชชาสุขภาพของจังหวัดที่ออกมา จึงอาจจะเรียกได้ว่า จังหวัดตรังยังอยู่ในช่วงหัดเดินในเรื่องสมัชชาสุขภาพก็ได้”
ทางด้านนายมานิจ สุขสมจิตร์ ประธานคณะทำงานรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ กล่าวว่า “มีความรู้สึกชื่นชมในแกนสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง ที่มีความมุ่งมั่นต่อการนำสมัชชาสุขภาพมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แม้จะเพิ่งเริ่มอย่างเป็นระบบแต่ถือได้ว่ามีการวางระบบ กระบวนการ และกลไกไว้อย่างดี ซึ่งเชื่อมั่นว่าในอนาคตเครื่องมือนี้จะมีการพัฒนาและยกระดับและถูกนำไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะของจังหวัดและทุกพื้นที่ต่อไป ซึ่งคิดว่าจะนำเรื่องราวที่ได้เห็นได้ฟังไปขยายผลในวงกว้างต่อไป”
อนึ่งในช่วงภาคบ่าย คณะทำงานรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินทางไปดูงานในพื้นที่ที่มีการนำมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังไปปฏิบัติ ที่ อบต.ปะเหลียน อำเภอปะเหลียน ที่มีการนำมติเรื่องการดูแลส่งเสริมสุขภาพของคนพิการไปดำเนินการจนเกิดเป็นรูปธรรม และที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพกันตัง อำเภอกันตังที่มีการนำมติเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และการจัดทำธรรมนูญสุขภาพอำเภอแห่งแรกของภาคใต้ด้วย
สำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สสช.) นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต