สช.เจาะประเด็น เผยฤทธิ์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สร้างสังคมสุภาวะรับผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

    สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ไขกุญแจความสำเร็จในการริเริ่มสร้างระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง มติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ชี้คุณค่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากการสานพลังทุกภาคส่วน รุดหน้าขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ พร้อมประกาศความพร้อมสำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 วันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
 
   วันนี้ (27 มกราคม 2555) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เวที “สช.เจาะประเด็น” หัวข้อ “คุณค่ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ : สุขภาวะผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง” ได้รายงานความคืบหน้าในการผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 ชื่อมติ “การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” ซึ่งต้องนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 อันเป็นไปตามที่ระบุในมติดังกล่าว
 
     นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์      
   นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “เรื่องการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องที่ทาง คสช. (คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ให้ความสำคัญมาก จึงได้ตั้งกลไกที่ชื่อ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ คมส. เป็นกลไกทำหน้าที่วางกลยุทธ์การขับเคลื่อน โดยเน้นการประสานความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงาน และพื้นที่ต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งในช่วงสามปีที่ผ่านมา มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคมหลายด้าน อาทิ เป็นสิ่งที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนที่ทำงานในเรื่องเดียวกันให้เข้ามาร่วมกับออกแบบการทำงาน มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จัดตั้งกลไกทำงาน เกิดการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมตามที่มติกำหนด นอกจากนั้น ยังมีองค์กร หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ นำมตินี้ไปอ้างอิงในการจัดทำแผนงาน โครงการต่างๆ มากมาย“อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาอุปสรรคที่ท้าทายต่อการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ต่อสังคมในวงกว้าง การสร้างความเป็นเจ้าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติขององค์กร หน่วยงาน และพื้นที่ร่วมกัน สำหรับในเรื่องการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงนั้น ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือเป็นมติที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแบ่งปันกันจึงถือเป็นกระบวนการทำงานที่ถือเป็นตัวอย่างการทำงานที่ดีตัวอย่างหนึ่ง”
 
     นายแพทย์นันทศักดิ์ ธรรมานวัตร์     
   ด้านนายแพทย์นันทศักดิ์ ธรรมานวัตร์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าที่มาของมตินี้เกิดขึ้นจากปัญหาด้านโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มสูงขึ้นรวมกว่า 8 ล้านคน ถือเป็นสัญญาณแจ้งให้รัฐและเอกชนจำต้องสานพลังกับภาควิชาการและประชาสังคม เร่งเตรียมการวางระบบการดูแลพลเมืองกลุ่มนี้ เฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ “มติผู้สูงอายุเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตในสังคม หากมีการขับเคลื่อนนโยบายด้านสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุย่อมได้รับประโยชน์นี้แน่นอน และจากการทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติต้องประกอบไปด้วย 4 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ซึ่งต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะกับผู้สูงอายุ องค์กรพัฒนาเอกชนควรสร้างสถานบริการอย่างเหมาะสม ภาครัฐเองก็ต้องจัดทำมาตรฐานของระบบการดูแล พร้อมปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้สูงอายุ”เหตุผลสำคัญที่สังคมควรให้ความใส่ใจในการเตรียมระบบการดูแลระยะยาวให้แก่ผู้สูงวัยเหล่านี้คือการลดภาวะพึ่งพิงของประชากรกลุ่มนี้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน หากระบบที่ได้รับการจัดเตรียมไว้รับมือกับปัญหานี้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับรัฐถึงท้องถิ่น ทุกชีวิตในสังคมก็จะมีคุณภาพ ผู้สูงอายุในครัวเรือนและชุมชนจะครองชีวิตด้วยตนเองอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระแก่สังคม “หากผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิงสูง รัฐก็จะยิ่งต้องเข้าไปให้การคุ้มครอง หนุนเสริมคุณภาพชีวิตให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีและอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข” นายแพทย์นันทศักดิ์ กล่าว
 
   สาระสำคัญข้อหนึ่งในมติดังกล่าวคือการให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข รับหน้าที่ในการริเริ่มสร้างกลไกระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยกำหนดให้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐานหลักในการดูแล ซึ่งคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น (เดือนมีนาคม 2553) ได้มีมติให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งต่อมา กผส.ได้แต่งตั้งกลไกขับเคลื่อนโดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (3ปี พ.ศ.2554-2556) ที่ระบุสามประเด็นหลัก มุ่ง บูรณาการโดยพร้อมเพรียงทั้งระดับท้องถิ่น ส่วนกลาง เป็นกรอบในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
 
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์      
   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของภาครัฐต่อความก้าวหน้าของระบบการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ซึ่งปัจจุบัน นับว่าได้รับการพัฒนามากขึ้น อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ได้เพิ่มหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ดูแลผู้สูงอายุด้านสุขภาพผู้สูงอายุและหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุสำหรับพนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังเข้ามาร่วมวางมาตรการทางสังคมให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งสภาการพยาบาล ยังได้ร่างมาตรฐานสถานพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรังเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ระบบการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวก็คืบหน้าไปมากในการพัฒนาการเตรียมตัวและการอบรมก่อนออกจากสถานพยาบาล ที่เหลือคือการเชื่อมประสานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างโรงพยาบาล ชุมชน และครัวเรือน “สังคมไทยต้องสร้างค่านิยมใหม่ และต้องเริ่มทำความเข้าใจครอบครัวที่ขาดทักษะในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งบางกรณีก็ต้องการการดูแลที่ซับซ้อน ต้องใช้ทักษะทางการพยาบาลในการดูแล ซึ่งเกินความสามารถของครอบครัวจริง ๆ เราต้องทำให้ญาติไม่รู้สึกผิดที่พาผู้ใหญ่ไปสถานพยาบาล ซึ่งสถานบริบาลก็ต้องรู้ว่าตัวเองต้องดูแลผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ดูแลเพียงอยู่ไปวันๆ” ผศ.ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ เสนอแนะเพิ่มเติม
 
     นายยอดศักดิ์ สุขโรจณี      
   ด้าน นายยอดศักดิ์ สุขโรจณี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี พื้นที่ตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ได้กล่าวในมุมมองของผู้นำแผนไปปฏิบัติในพื้นที่จนเกิดผลในช่วงน้ำท่วมว่า “ที่นี่มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุรวมกว่า 40 คน เราได้จัดสถานที่อพยพให้แก่ผู้สูงอายุและครอบครัวที่อยู่บ้านชั้นเดียวสามารถอยู่ร่วมกันได้ ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เราจะสนับสนุนอุปกรณ์ขนย้ายหรือติดต่อให้หน่วยงานราชการมาช่วยเหลือ” รอง อบต.บางสีทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ต.บางสีทอง ได้ริเริ่มทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยต้องการสร้างทั้งทักษะและทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ รวมทั้งการให้เกียรติและการให้ความเคารพผู้สูงอายุในตำบลบางสีทองซึ่งจะได้อยู่อย่างมีเกียรติ เมื่อถึงเวลาจากไปก็จากไปอย่างมีศักดิ์ศรี นี่คือตัวอย่างความสำเร็จเบื้องต้นของพลังขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ตอกย้ำคุณค่าสมัชชาสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการได้มาของมติแต่ละเรื่องที่เรียกว่า “กระบวนการประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม” โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4) จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 ภายใต้แนวคิดหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ”
 
 icon Fact Sheet 27 2012 (159.89 kB) http://www.nationalhealth.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_dow...
 icon สช.เจาะประเด็น เผยฤทธิ์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (117.5 kB) http://www.nationalhealth.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_dow...
 icon สาระสำคัญจาก 6 ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครัง้ที่ 4 พ.ศ. 2554 (149.48 kB)  http://www.nationalhealth.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_dow...

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140  

รูปภาพ