สมัชชาสุขภาพฯเตรียมสังคายนา มาตรการสกัดอุบัติภัยทางถนน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติห่วงอุบัติภัยทางถนนยังรุนแรง เตรียมชงคสช.เดินหน้าขับเคลื่อนทุกมาตรการ นักวิชาการหนุนตั้งศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ ลงโทษผู้ขับขี่ทำผิดซ้ำซาก พร้อมยกเครื่องการออกใบอนุญาต พุ่งเป้ามอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ และห้ามรถทัวร์สองชั้นวิ่งในวางเส้นทาง ขณะที่ภาคประชาชนเสนอตั้งหน่วยงานดูแลโดยตรง
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ เรื่อง การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะในการผลักดันมติสมัชชาฯไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
 
   น.ส.กาญจนา ทองทั่ว กรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่อง การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแล้วหลายประการ ทั้งในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ แนวทางการสอบใบขับขี่ จากเดิมตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก กำหนดให้ผู้สอบต้องรับการอบรมเพียง ๑ วัน ขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนเป็น ๔ วัน นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ขานรับข้อเสนอไปปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นกัน
 
   น.ส.กาญจนา กล่าวว่า อุปสรรคที่สำคัญในการแก้ปัญหา คือเรื่องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จัดกิจกรรมรณรงค์เหมือนการจัดงานอีเว้นท์ ไม่ได้ทำให้เกิดวิถีความปลอดภัยทางถนนอย่างแท้จริง ขณะที่การขับเคลื่อนของภาคประชาชน ถือว่ามีความจริงจังมากกว่า
 
   หลังจากติดตามมติในวันนี้ จะมีการนำข้อเสนอและความก้าวหน้า ที่ได้จากภาคีเครือข่ายมาประมวลว่า จุดไหนเป็นจุดคานงัดที่จะต้องเร่งทำ ทั้งรับฟังข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาทันต่อสถานการณ์ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือคสช.รับทราบ และนำสู่การแก้ปัญหาต่อไป
 
   นายประสิทธิ์ คำเกิด ผู้แทนจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการวิจัยเกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ว่าการบังคับใช้มีปัญหาหรืออุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่าในปัจจุบันปัญหาได้รับการแก้ไขไปมาก โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน อีกทั้งยังมีการเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินจาก ๑.๕ หมื่นบาท เป็น ๔หมื่นบาท ขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์ยังสามารถรักษาพยาบาลผ่านโรงพยาบาลได้ทันที
 
   อย่างไรก็ตามจากการศึกษา ยังพบปัญหาน่าห่วงว่า ขณะนี้มีรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยตามพ.ร.บ.จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์และมีไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านคัน ในกรณีนี้จะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรหาทางแก้ไขเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้รถเหล่านี้ด้วย
 
   ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องอุบัติภัยทางถนน กล่าวว่า ข้อเสนอในการป้องกันอุบัติภัยทางถนนที่อยากผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ คือการตั้ง ศูนย์บริการข้อมูลด้านอุบัติภัยบนถนน ที่เป็นศูนย์กลางมีฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบผู้กระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อเพิ่มบทลงโทษ ทั้งยังเสนอให้มีการแยกใบอนุญาตขับจักรยานยนต์ระหว่างรถขนาดเล็กกับรถแบบบิ๊กไบค์ เหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากระยะหลังบิ๊คไบค์เกิดอุบัติเหตุที่มีความสูญเสียรุนแรงจำนวนมากขึ้น
 
   ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพขับรถขนส่ง หรือรถสาธารณะ ขอเสนอว่าให้แยกระหว่างใบอนุญาตขับรถ กับใบประกอบวิชาชีพขับรถสาธารณะ โดยกำหนดให้ต้องต่อใบประกอบวิชาชีพทุกปี นอกจากนี้ ในการเดินรถทัวร์แบบสองชั้น ควรมีนโยบายให้ยกเลิกการเดินรถในบางเส้นทางที่อาจเกิดอันตราย ส่วนการตรวจสภาพรถของเอกชน หรือตรอ.ต้องมีมาตรฐานการตรวจที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เป็นต้น
 
   ด้าน นายอำนาจ สุรีรัตน์ ชมรมร่วมใจพัฒนาคนพิการ จ.สระบุรี กล่าวว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุแต่ละปีมีมูลค่านับหมื่นล้าน แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะมาดูแลโดยตรงเกี่ยวกับการควบคุมและลดอุบัติเหตุทางถนน และหน่วยงานนี้ควรกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อดูแลและป้องกันอุบัติภัยบนถนนได้อย่างทั่วถึง

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ