- 43 views
“นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน คมส. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุด ที่ประชุมรับทราบตัวอย่างความสำเร็จในการขับเคลื่อนมติฯ “รมว.สธ.” ย้ำ เป้าหมายคุมโควิด หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ ระบุ จะป่วยกี่คนก็ได้แต่ต้องคัดกรองให้เจอ-รักษาให้หาย
การประกาศคลายล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ของรัฐบาล นำมาซึ่งความอุ่นใจและถือเป็น “ของขวัญ” ชิ้นสำคัญที่ให้กับประชาชน ในยามที่ยังรู้สึกหวาดวิตกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อสังคมกลับมามีชีวิตชีวา การเดินทางและกิจวัตรประจำวันกลับสู่ความปกติใหม่ (New Normal) การพบปะพูดคุยเพื่อร่วมกันกระทำการในสิ่งที่ดีๆ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา สองวันหลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการคุมเข้ม ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกันเป็นนัดแรกของปี 2563
นายอนุทิน กล่าวขอบคุณกรรมการที่เสียสละมาทำงานเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะการใช้กลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะหรือแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ฉะนั้น พร้อมสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลไกและกระบวนการดังกล่าว และย้ำว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนคงต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ไปจนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนสำเร็จ สิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติในตอนนี้คือ การสวมหน้ากากอนามัย การเดินหน้าไปสู่ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 เป็นศูนย์นั้นคงไม่ใช่เป้าหมาย แต่ต้องตรวจคัดกรองให้ได้มากที่สุด พบผู้ป่วยกี่คนก็ได้ ที่สำคัญคือ ต้องรักษาเขาให้หาย
“โควิดทำให้เราพิสูจน์แล้วว่า รากฐานด้านสาธารณสุขของประเทศไทยดีมาก การเฝ้าระวัง คัดกรอง ให้บริการ รักษา การเข้าถึง การเตรียมพร้อม เราไม่แพ้ประเทศใดแน่นอน จะขาดอยู่ก็คือ เรื่องการศึกษาวิจัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรประมาณ 4.5 หมื่นล้าน เบื้องต้น ได้อนุมัติให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นจำนวนหลายพันล้าน เพื่อเสริมศักยภาพ พัฒนา และสร้างอำนาจการต่อรองให้ประเทศไทย” รมว.สธ.ระบุ
สำหรับวาระสำคัญของการประชุม คมส. ครั้งนี้ มีการพิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการ” ที่อยู่ภายใต้ คมส. จำนวน 2 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน และ 2. คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มี นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ เป็นประธาน
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณกรรมการทุกท่าน จากนั้น ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้นำเสนอถึง “แผนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563-2564” เพื่อใช้เป็น “เช็คลิสต์” ให้คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุดวางแผนการขับเคลื่อนมติ-กลุ่มมติ ต่อไป
ส่วนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องดำเนินการในปี 2563-2564 นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ถูกกำหนดให้รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนฯ ในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 และครั้งที่ 14 (ปี 2563-2564) รวมถึงมติที่เป็น Flagship ขององค์กร และ 2. กลุ่มที่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง (On-going)
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า คมส. ได้ใช้ “การสานพลังความร่วมมือ” เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนมติ ประกอบด้วย “DENMarKSII” อันได้แก่ การสร้างตัวอย่าง การหนุนเสริมการทำงาน การสร้างเครือข่าย การสร้างแรงจูงใจ การจัดการความรู้ การสื่อสารสังคม การใช้ระบบข้อมูล และการบูรณาการข้ามหน่วยงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 และความคืบหน้าการขับเคลื่อนฯ มติ 11.2 ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก รวมถึงการเตรียมความพร้อมจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ในช่วงวันที่ 16 – 18 ธันวาคม ปลายปีนี้ด้วย
พระมหาเป็นเกียรติ กิตฺติวิสุทฺโธ ผู้แทนฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และนางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ฉายภาพรูปธรรมของกระบวนการมีส่วนร่วมและดอกผลของกระบวนการสมัชชาฯ ผ่านการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ” ทั้งมิติความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์และฆราวาส การดำเนินงานภายใต้กรอบธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์เพื่อการเข้าถึงสิทธิในการรับบริการสุขภาพ การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก การสนับสนุนให้เกิดวัดส่งเสริมสุขภาพ และวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรม ตามโครงการชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลัง “บวร” ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก อนุกรรมการส่งเสริมการป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ นำเสนอกระบวนการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่
มติสมัชชาฯ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 5 จนในครั้งที่ 11 ที่มีการประกาศให้อีสปอร์ตเป็นกีฬา ในขณะที่ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่ได้ต่อต้านการแข่งขันเกม แต่ต้องการสร้างสมดุล ที่จะช่วยกันทำให้เด็กในแต่ละกลุ่มวัยสามารถเล่นเกมได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาวะที่ดี ไม่กระทบต่อชีวิตของเด็กและครอบครัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำ (ร่าง) กฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ. .... และการเสนอนโยบายและแผนปฏิบัติการความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็ก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) ที่ทุกภาคส่วนเห็นชอบแล้ว ต่อคณะรัฐมนตรี
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147