- 1352 views
หน่วยงานรัฐหลายฝ่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุมทั้งการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มุ่งหวังให้คนไทยปลอดภัยจากการใช้ยา และสามารถพึ่งตนเองดูแลความเจ็บป่วยเบื้องต้นของตนเองได้อย่างเหมาะสม
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งมีคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๖๕ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลด้านยา (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบวิชาชีพและสถานบริการสุขภาพ (กลางน้ำ) และ ประชาชน ครอบครัวและชุมชน (ปลายน้ำ) ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ วัคซีน ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้เพื่อการรักษา ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ และยาสำหรับสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งหมายใช้เป็นยา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผลที่เกิดขึ้นทั้งในสถานพยาบาล ร้านขายยา และชุมชน เป็นปัญหาของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่กล่าวไว้ว่า มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของการจ่ายยาและการขายยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นไปอย่างไม่สมเหตุผล และเนื่องจากการใช้ยาไม่สมเหตุผลส่งผลเสียต่อสุขภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน รวมถึงการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ ทั้งนี้ใน พ.ศ.๒๕๖๑ ค่าใช้จ่ายด้านยา คิดเป็นร้อยละ ๔๔ ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพียงร้อยละ ๑๐-๒๐ ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงมีมติเห็นชอบการพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตั้งแต่ธันวาคม ๒๕๖๑ และมอบหมายคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ
ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือเรียกว่า “Rational Drug Use country” (RDU country) มีเป้าหมายให้การใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย เป็นสิทธิพื้นฐานของคนไทย และเป็นมาตรฐานด้านคุณภาพบริการสุขภาพ เพื่อคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีสุขภาพดี และประเทศมีระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืน
อนึ่ง ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีกระบวนการพัฒนานโยบายอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ.๒๕๖๒ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายร่วมผลักดัน และมีมติสนับสนุนการดำเนินงานสู่ RDU country
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประกอบด้วย ๖ กลยุทธ์ ได้แก่ ๑) พัฒนาระบบกลไกกำกับดูแลด้านยา เพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ๒) พัฒนาระบบบริการสุขภาพทั้งรัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งบริการสุขภาพของประชากรเฉพาะกลุ่ม (เช่น พระสงฆ์ ลูกจ้างในโรงงาน ผู้ถูกคุมขังในทัณฑสถาน) ให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ๓) พัฒนาการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของวิชาชีพด้านสุขภาพ ๔) ออกแบบและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทั้งในเขตเมืองหลวง เขตเมือง และเขตชนบท รวมพื้นที่ชายแดน ๕) บูรณาการการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทั้งระบบการศึกษา และกลไกการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทั้งระดับองค์กรและชุมชน และ ๖) พัฒนากลไกบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว สอดคล้องตามเป้าหมายของแผนแม่บทการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี
ในยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับประชาชน ภาครัฐจะบูรณาการแนวคิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในระบบการศึกษา และการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วย องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชน จัดทำข้อเสนอบทบาทของภาคประชาชน และข้อเสนอบทบาทภาครัฐในการสนับสนุน เครือข่ายดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะเชื่อมโยงประสานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
นอกจากนี้ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่า นอกเหนือจากการจ่ายยาและการขายยาอย่างไม่สมเหตุผลแล้ว องค์การอนามัยโลกยังระบุว่ามากกว่า ครึ่งของผู้ใช้ยายังไม่สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
การซื้อยาใช้ด้วยตนเองของประชาชนโดยขาดความรู้ ความเข้าใจ นำความเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ และการเสียชีวิต มาสู่ประชาชนจำนวนมากในแต่ละปี เช่น กรณียาชุดแก้ปวด ที่ทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร ไตวาย ความดันเลือดสูงขึ้น หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจากเส้นเลือดสมองอุดตัน ยาชุดแก้อักเสบ (ฆ่าเชื้อ) ทำให้ซ้ำเติมปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นวิกฤติอยู่แล้วในปัจจุบันให้ยิ่งเลวลง ยาแก้ปวดไมเกรนทั้งกลุ่มเอ็นเสดที่ก่อปัญหาเดียวกันกับยาชุดแก้ปวด และกลุ่มเออร์กอตที่อาจทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงที่ปลายมือ ปลายเท้า จนต้องตัดนิ้ว มือ หรือเท้า และบางคนก็เสียชีวิตลง การซื้อยาอันตรายจึงต้องซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานเท่านั้นเพื่อให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา
คนไทยทุกคนสามารถมาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ (new normal) เพื่อ “อาร์ดียู” ได้โดยยึดหลักว่าความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ซึ่งมีสมุทัยคือสาเหตุของการเกิดโรค การแก้ไขต้องเริ่มจากเหตุเพื่อนำไปสู่ความสุขทั้งกายและใจ เริ่มจากการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อไม่นำโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคไต ตลอดจนโรคจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด มาสู่ตน รวมไปถึงการนำบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวไปรับวัคซีนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด การกระทำเช่นนี้จะลดโอกาสป่วย ลดความจำเป็นในการใช้ยาลงได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องทำความรู้จักกับยาที่ได้รับและตั้งใจที่จะใช้ยานั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ไม่หยุดยาเอง ไม่เลือกกินหรือไม่กินยาบางชนิด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้หรือไม่ประสงค์จะใช้ยาต่อต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เมื่อไปพบแพทย์ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคใดแม้แต่โรคหวัด ไอ เจ็บคอ ก็ควรนำยาที่ใช้อยู่ไปด้วยเสมอเพื่อให้ผู้รักษาทราบปัญหาเดิมที่เป็นอยู่ ช่วยให้เลือกยาได้เหมาะสมมากที่สุดและป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน การไปรับยาตามนัดก็ควรนำยาเดิมไปด้วย เพราะหากยาใดเหลือมากผู้รักษาจะได้สอบถามถึงเหตุผลและหาทางแก้ไขปัญหาให้ เช่น ฉลากยากำหนดให้ใช้วันละ ๓ ครั้งแต่ผู้ป่วยอาจใช้เพียงวันละ ๑ ครั้งเพราะไม่ได้อ่านฉลากยาหรือใช้ผิดด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หากยาใดไม่ต้องใช้ต่อแล้วหรือมีการปรับขนาดยาผู้รักษาสามารถสื่อสารกับประชาชนได้ง่ายขึ้นด้วยยาเดิมที่นำไปยังโรงพยาบาล ผู้ป่วยบางรายมียาบางชนิดเหลือมากกว่า 1 พันเม็ดในกรณีนี้หลังทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้ยาแล้ว แพทย์ก็ไม่ต้องสั่งยาเดิมเพิ่มเติมไปอีก รอไว้สั่งในครั้งต่อ ๆ ไปที่ยาใกล้หมด ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ายาเหลือที่สะสมไว้โดยไม่ได้ใช้ของประชาชนรวมทั้งประเทศมีจำนวนและมูลค่ามหาศาล ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองค่ายาไปโดยเปล่าประโยชน์
ตัวชี้วัดที่บ่งถึงความสำเร็จของ RDU Country คือความรอบรู้ของประชาชนด้านยาและสุขภาพเพียงพอที่จะเกิดพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยวิธีการที่ไม่ต้องใช้ยา เมื่อใช้ยาก็ใช้อย่างถูกต้อง ทั้งด้านขนาดยา วิธีใช้ยา ความถี่ และระยะเวลาการใช้ ไม่หยุดยาเองเพราะเพื่อนบ้านแนะนำ ไม่มียาเหลือสะสมไว้เป็นจำนวนมาก รู้จักอันตรายของยาที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงบางประการของยาได้ ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง สามารถป้องกันตนเองจากการขายหรือจ่ายยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นจากร้านขายยาและสถานพยาบาลได้ การขายยาอันตรายที่ร้านชำในหมู่บ้าน และรถเร่ และการโฆษณาขายยาและอาหารเสริมอย่างผิดกฎหมายจากช่องทางต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ยุติลง และ “ยาชุด” หมดไปจากประเทศไทย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147