โจทย์ใหญ่หลังวิกฤตโควิด-19 ระยะแรกเบาบางลง ก็คือ การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต-อาชีพ –รายได้ของประชาชน ที่ผ่านมาเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ นอกจากจะทำงานด้านการป้องกันได้อย่างดีเยี่ยม ยังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูชุมชนด้วย ตัวอย่างดีที่สุรินทร์ เน้นเกษตรอินทรีย์-จัดการอาหารชุมชน ที่ศรีสะเกษทุกส่วนร่วมร่างธรรมนูญตำบลได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 แล้ว บ้างเป็นเพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง บ้างก็จำเป็นต้องปลดมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เริ่มผ่อนคลายให้เปิดกิจการหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้แล้วเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ยังคงรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด อย่า ‘การ์ดตก’ เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งทะยานขึ้นอีกในเฟสที่ 2
นี่จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องทำงานทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน คือ ป้องกันการแพร่ระบาด กับ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะคนรากหญ้าที่ประสบความยากลำบากมาเกือบ 2 เดือนจากมาตรการล็อคดาวน์
“การแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปธรรมความสำเร็จถือเป็นกลไกที่ดี ที่สำคัญต้องมีการถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แต่ละมุม และโควิด-19 เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่า การมีส่วนร่วม การเข้าใจตรงกันและการมีเป้าหมายเดียวกันคือ หัวใจสำคัญที่ทำให้เราผ่านพ้นมาได้” ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนและเห็นชอบข้อเสนอก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนแผน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รับเป็นเจ้าภาพในการประสานความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการไปยังภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ทั่วประเทศเกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมของประชาชน อาสาสมัคร เครือข่ายประชาชน สภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ทุกตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ได้ร่วมกันจัดกำหนดมาตรการต่างๆ ของประชาชนและของชุมชนที่จะเสริมมาตรการของรัฐในรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความสำเร็จในการจำกัดการแพร่ระบาดที่ผ่านมาเป็นเพราะ “ประชาชน” ทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ สร้างมาตรการทางสังคม ช่วยดูแลกันและกัน เรียกว่าเป็น ‘การทำงานในแนวราบ’ ผสานกับนโยบายการสั่งการที่ชัดเจนจากรัฐบาล หรือ ‘การทำงานในแนวดิ่ง’
โดยโจทย์สำคัญก็จะเปลี่ยนผ่านจากเรื่องการแพร่ระบาดไปสู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต อาชีพ และรายได้มากยิ่งขึ้น นี่นับเป็นโจทย์ยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับพลังพลเมืองตื่นรู้ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
จังหวัดสุรินทร์ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ หลังจาก นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนกำหนดกรอบปฏิบัติการ 90 วัน ‘คนสุรินทร์ฝ่าวิกฤติโควิด-19’ ภาคประชาสังคมในนามสภาพลเมืองสุรินทร์ ได้ประชุมระดมสมองและมีข้อเสนอเพิ่มเติมแก่ผู้ว่าฯ ในการพัฒนาต่อยอดงานที่ทำอยู่แล้วเพื่อสร้างชุมชนต้นแบบการจัดการตนเองภายใต้วิกฤตโควิด-19 หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำงานสองด้านพร้อมกัน ทั้งการป้องกันและการฟื้นฟู
แนวทางการขับเคลื่อนของสภาพลเมืองสุรินทร์ที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นมี 5 ด้าน คือ 1.เกษตรอินทรีย์ 2.อาหารปลอดภัย 3.การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าและพลังงาน 4.การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 5.สิทธิและการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย เมื่อเกิดวิกฤตและเกิด New Normal หรือการจัดการ “ชีวิตใหม่ สังคมใหม่” จึงเสนอปฏิบัติการเพิ่มเติม ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว คือ
1) การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ ทั้งในส่วนของกลุ่มบุคคล ธุรกิจและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบในทุกด้านและจัดทำข้อมูลของหน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ที่ใช้มาตรการเชิงป้องกันได้อย่างดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ
2) กลไกการขับเคลื่อนงานใน 2 ระดับ คือ ระดับพื้นที่ปฏิบัติการใช้ฐานตำบลเป็นตัวตั้ง และระดับจังหวัดเพื่อมองในภาพรวม พร้อมทั้งสนับสนุนทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง นับเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองของชุมชนอย่างยั่งยืน
3) นำเครื่องมือ “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” มาใช้ โดยเครื่องมือนี้ได้รับการสนับสนุนและผลักดันจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถสร้างมาตรการทางสังคมที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสอดคล้องกับบริบทตนเอง
4) พัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน
5) ทำระบบธนาคารอาหารชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน เช่น สวนผักคนเมือง การอนุรักษ์และจัดการแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น ป่าชุมชน วังปลา
เทศบาลตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกพื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ นางสาวอุไร โปร่งจิต ปลัดเทศบาลตำบลโคกจาน เล่าว่า ในพื้นที่มีการทำข้อตกลงร่วมของชุมชนในเรื่องอื่นๆ มาก่อนแล้ว เช่น ปัญหายาเสพติด แต่ยังไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องโรคระบาดและไม่เคยใช้เครื่องมือ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ แต่เมื่อได้รับหนังสือขอความร่วมมือและคู่มือแนวทาง จึงจัดวงปรึกษาหารือ ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ ของ สช.กับภาคีเครือข่าย ทางเทศบาลก็ลงมือทันทีด้วยว่าคำแนะนำนั้น “ชัดเจน ง่าย และทำได้จริง” จนสามารถระดมสมองจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลที่ครอบคลุมรอบด้านภายในเวลาไม่กี่วัน และมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีองค์ประกอบจากทุกส่วนในพื้นที่
คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่รายงานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงแต่ละหมู่บ้าน ออกตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มเสี่ยงและติดตามผลจนกว่าจะพ้นช่วงกักกัน ออกคัดกรองเมื่อมีกิจกรรมประเพณี คอยพิจารณาตักเตือนเมื่อมีการพิพาทหรือไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญ จัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นของเทศบาล/อบต. เป็นต้น ส่วนเนื้อหาในธรรมนูญนั้นก็มีการกำหนดข้อควรปฏิบัติทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว การจัดการพื้นที่สาธารณะหรือหน่วยงานต่างๆ การจัดการสิ่งแวดล้อมและกำจัดขยะติดเชื้อ การดูแลกลุ่มเปราะบาง แนวทางจัดกิจกรรมหรืองานประเพณี ฯลฯ
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ในการทำงานของ ‘พื้นที่’ ที่ทำทั้งในเชิงป้องกันและฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด ขณะที่อีกหลายจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้มีหนังสือไปยังอำเภอต่างๆ รวมถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้มีหนังสือไปยังท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อให้เกิดความตื่นตัว ประสานความร่วมมือกันในการดำเนินการสร้างพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 แล้ว
“วิกฤตนี้เป็นวิกฤตระยะยาวที่จะส่งผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย ในระยะต่อไปต้องคิดเรื่องการฟื้นฟูให้มากขึ้น เครือข่ายในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการออกมาตรการการดูแลสุขภาพและการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำให้พื้นที่เข้มแข็งและจัดการตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งประสบการณ์ของการสู้ภัยโควิดเที่ยวนี้จะทำให้ชุมชนมีข้อตกลงร่วมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ หรือโรคระบาดใหม่ๆ ในอนาคตข้างหน้า เรียกได้ว่า มีทั้งประสบการณ์ ระบบการจัดการ และเกิดความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่” นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 872 views