กทม. จับมือ สช. สร้างชุมชนนำร่อง รับมือโควิด-19 ป้องกันระลอกสอง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สำนักอนามัย กรุงเทพฯ จับมือ สช. สร้าง “ธรรมนูญชุมชน” หรือ “มาตรการทางสังคม” ใน 60 ชุมชนนำร่อง ร่วมป้องกันโควิด-19 รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย ย้ำ ประชาชนอย่าประมาทระลอกสอง ป้องกันตัวเองเหมือนเดิม เสริมด้วยแอพลิเคชัน ‘ไทยชนะ - ผู้พิทักษ์ไทยชนะ’ ช่วยรัฐติดตามควบคุมโรคได้เร็ว
 
   วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกเหนือจากความรวดเร็วรัดกุมในทางกฎหมายที่รัฐบาลและผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการมาโดยตลอดแล้ว กำลังหลักในการสู้ภัยโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งก็คือ ภาคประชาชน โดยที่ผ่านมา สำนักอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำหนดพื้นที่ใน 10 เขต กทม. เป็นชุมชนนำร่อง 60 ชุมชน ดำเนินการตามมาตรการที่รัฐบาลและกทม.กำหนดอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง ลดความแออัด การดูแลสุขลักษณะต่างๆ
 
   “เราให้ความรู้ความเข้าใจพี่น้องในชุมชนเกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ป่วยแล้วจะมีอาการอย่างไร วิธีป้องกัน แล้วชุมชนจะช่วยเฝ้าระวังได้อย่างไร จากนั้นให้ชุมชนเขาสร้างกฎเกณฑ์หรือธรรมนูญชุมชนขึ้นเองว่า จะมีส่วนร่วมในการดูแลอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม. มีคนไข้ราว 1,500 กว่าคน หลายคนก็อยู่ในชุมชน แม้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ก็ได้พี่น้องในชุมชนต่างๆ ช่วยดูแล ทั้งคนที่ออกจากโรงพยาบาลต้องดูแลต่อหรือคนที่ต้องเฝ้าระวัง หัวใจสำคัญคือ การสร้างความข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือ เคยเจอบางชุมชนที่ไม่เข้าใจ พอมีคนใกล้ชิดคนป่วย เขาแทบจะขับไล่คนนั้นออกจากหมู่บ้าน” นพ.สุนทรกล่าว
 
   นพ.สุนทรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการผนึกกำลังกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่ 10,000 กว่าคน กระจายตัวอยู่ชุมชนละ 3 - 4 คน ทำหน้าที่ให้ความรู้คนในชุมชนและช่วยคัดกรองเบื้องต้นเหมือน อสม.ในต่างจังหวัด ขณะที่ต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยที่ดูแลใกล้ชิดประชาชนที่สุด กทม. ก็มีหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือในชื่อเดิมว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข อยู่อีก 69 แห่ง
 
   “ถามว่าจะรับมืออย่างไรในระลอกสอง ผมคิดว่าหลักการที่สำคัญ 5 - 6 ข้อที่รัฐบาลและ กทม.ประกาศให้ประชาชนป้องกันตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ทั้งการใส่หน้ากาก ใช้เจลล้างมือ การเว้นระยะห่าง เลี่ยงความแออัด สิ่งเหล่านี้ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ ไม่ได้ขออะไรมาก แต่ขอให้ทำเหมือนเดิม อย่าย่อหย่อน และหากมีอาการเข้าเกณฑ์ความเสี่ยง ก็รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งสิทธิ สปสช.ให้ตรวจฟรีได้ด้วย ช่วงที่คนไข้น้อยลง เราก็ไปเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลต่างๆ เตรียมความพร้อมกันไปเรื่อยๆ ทำให้มีความพร้อมมากกว่าช่วงต้นปีเยอะ” นพ.สุนทรกล่าว
 
   นพ.สุนทรกล่าวเสริมว่า สำหรับการทำงานของ กทม.นั้นยังคงใช้หลักการ “รีบตะครุบ” นั่นคือ หากพบว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะต้องส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วเข้าไปในชุมชน ปัจจุบันมีอยู่ 71 ทีม เพื่อสำรวจว่าผู้ป่วยปฏิสัมพันธ์กับใครบ้างแล้วระงับการระบาดให้เร็วที่สุด
 
   “ตอนนี้มีเครื่องมือที่คนเริ่มไม่ค่อยใช้กันแล้วนั่นคือ ไทยชนะ เรื่องนี้ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ ช่วงจัดทำโปรแกรม ผมมีโอกาสอยู่ในคณะทำงาน คุยกันหลายเรื่อง เราสร้างคนไข้สมมติขึ้นมาด้วย สมมติว่า นายสุนทร เข้าไปในที่แห่งหนึ่งแสกนไทยชนะตามจุดต่างๆ สิ่งที่ปรากฏคือ ระบบจะบอกเบอร์คนต่างๆ ที่อยู่บริเวณนั้น หากพบว่านายสุนทรป่วย ถ้าใช้โปรแกรมไทยชนะ เราก็จะมีคนราว 300-500 คนที่ต้องรีบโทรไปหาเขาเพื่อสอบสวนโรค มีอาการไหม จะได้รีบตรวจให้ แต่หากไม่มีไทยชนะกว่าจะตามได้ บางทีติดกันหลายช่วงแล้ว ต้องตามคนสักหมื่นคน ดังนั้น อย่าขี้เกียจเลย สแกนไว้มีประโยชน์ เราไม่ได้เอาข้อมูลไปทำอะไร ผู้ที่ถือข้อมูลก็คือ กระทรวงสาธารณสุข” รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกล่าว
 
   นพ.สุนทรยังกล่าวถึงเครื่องมือที่กรุงเทพมหานครจัดทำนั่นคือ ผู้พิทักษ์ไทยชนะ เป็นแอพลิเคชั่นที่เกี่ยวเนื่องกับไทยชนะในการตรวจสอบมาตรการของร้านค้าร้านอาหารต่างๆ เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้และมีผู้ร่วมใช้งานราว 2-3 ล้านคน “สมมติเราไปร้าน A แล้ว ผมประเมินมาตรการต่างๆ ระยะห่าง ความสะอาด มีเจลล้างมือ สวมหน้ากากกันไหม ร้านไหนที่ได้คะแนนต่ำ เราก็ส่ง ผู้พิทักษ์ไทยชนะ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของ กทม. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตไปตรวจสอบ ตักเตือน ตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนเป็นผู้พิทักษ์หมดทุกคน มีแอพส่วนตัว จริงๆ เราเน้นหลายพื้นที่ แต่พื้นที่สำคัญอย่างห้องน้ำเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้เยอะ ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญมากที่ต้องดูแล”
 
   นพ.สุนทร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ต้องขอความร่วมมือกัน อย่าคิดว่าตอนนี้ไม่มีคนไข้ ทุกวันที่รัฐบาลแถลงจะพบว่ายังมีคนไปนอนสถานที่กักกันของรัฐบาล แสดงว่าต่างประเทศยังมีคนติดเชื้อเยอะ และประเทศไทยปิดประเทศแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะไม่ไหว ฉะนั้น เราจึงต้องป้องกันตัวเองและทำให้เป็นนิสัย ใส่หน้ากากไว้จนกว่าจะมีวัคซีนฉีดกันโดยถ้วนหน้า”

 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ