ชาวพะเยาสานพลัง จัดกติกาชุมชน ป้องกันภัยโควิด19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา สานพลังชุมชนในพื้นที่รับมือโควิด19 วางกติกาการอยู่ร่วมกัน สร้างกิจกรรมให้คนที่ต้องกักตัวตระหนักในคุณค่าตนเอง แลกเปลี่ยนข้อมูล เฝ้าระวัง ใช้กองทุนสวัสดิการหรือธนาคารหมู่บ้านช่วยเหลือสมาชิก เน้นให้กำลังใจ แบ่งปันเกื้อกูล
 
   นางมุกดา อินต๊ะสาร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ผ่านรายการคลื่นความคิด FM 96.5 เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า เครือข่ายฯ มีเป้าหมายสำคัญคือ ประชาชนคนพะเยาอยู่เย็นเป็นสุข วาระหนึ่งคือเรื่องคุณภาพชีวิต สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้งทำงานผ่านพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐและชาวบ้านมาร่วมคิดด้วยกันว่าจะทำให้พี่น้องระดับตำบลอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุข และอีกหลายภาคส่วนได้พูดคุยถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คอยส่งข่าวและช่วยกันดูแล มีการมอบหมายให้นายอำเภอทำงานร่วมกับภาคประชาชนลงไปถึงพื้นที่ตำบล ท้องถิ่น ชุมชน นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือสมัชชาสุขภาพตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้ามาเสริม ทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการพูดคุย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ยิ่งทำให้การดำเนินงานขยับได้ดีมากขึ้น
 
   “ในชุมชนวางกติการ่วมกันว่า ถ้าใครไปไหน ไปต่างจังหวัดกลับมา ให้รายงานให้ผู้ใหญ่บ้านรับทราบ และช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนที่พักอยู่มีกำลังใจ น้องๆ ที่กลับจากต่างจังหวัดมากักตัว เราก็ชวนทำไร่ ทำสวน ทำเศรษฐกิจพอเพียง ครอบครัวก็ไม่เครียด ได้ทักทายกัน แม้จะจัดระยะห่างแต่ก็มีสัมพันธภาพที่ดี ที่สำคัญคณะกรรมการตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ละที่ก็เชื่อมโยงและส่งต่อเรื่องราวให้กันและกัน” มุกดากล่าว
 
   ด้านชีวิตความเป็นอยู่ นางมุกดากล่าวว่า ในชุมชนแต่ละพื้นที่จะมีกองทุนสวัสดิการตำบล ธนาคารหมู่บ้าน ฯลฯ หากใครมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็จะมีการปรึกษาหารือกันเพื่อนำเงินส่วนนี้มาจัดสวัสดิการให้ก่อนโดยไม่ต้องรอคำสั่ง มีการไปเยี่ยมให้กำลังใจ เอาข้าวปลาไปช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งหมดนี้เป็นภาพของชุมชนเข้มแข็งที่เกิดจากการทำงานมาเกือบ 3 ทศวรรษ
 
   “กลุ่มต่างๆ ในพะเยาทำงานกับชุมชนมาตลอด ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ตั้งแต่ปี 2531 เรามีภาคีสาธารณสุข เอ็นจีโอ ประชาชนมาระดมความคิดด้วยกัน เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับงานกองทุนต่างๆ ที่มีในพื้นที่ มหาวิทยาลัยพะเยาก็มาเรียนรู้ด้วย กองทุนสวัสดิการบางตำบลก็มานั่งวิเคราะห์จะช่วยกันอย่างไรตามภารกิจที่ตนเองมี หลังจากสถานการณ์เอดส์มาถึงปี 2540 ก็มีสวัสดิการผู้ยากลำบาก จนถึงตอนนี้ก็ยังจัดการกันอยู่ มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มาช่วยทำกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง...”
 
   “คนทุกคนมีคุณค่าสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันได้ อีกทั้งเรายังมีคำสอนของพุทธศาสนาให้มีสติ นำธรรมะมาใช้ แบ่งปันเกื้อกูลกัน และอย่าลืมว่าพลังที่สำคัญที่สุดก็คือใจของเราเอง จึงขอส่งกำลังใจให้พี่น้องทุกคนที่กำลังร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน” นางมุกดากล่าวทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ