- 496 views
ภาคประชาสังคมสงขลาจับมือหน่วยงานรัฐสู้ภัยโควิด-19 ผ่านกระบวนการหลากหลาย ทั้งธรรมนูญสุขภาพ การแลกเปลี่ยนแนวคิด การสร้างฐานข้อมูลเพื่อดูแลประชาชนเปราะบางในพื้นที่ เชื่อจะเป็นโอกาสสำคัญในการปรับตัวเพื่อถักทอเครือข่ายและพัฒนาพื้นที่
“องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่มานาน ทำให้มีต้นทุน มีฐานอยู่แล้ว นำมาใช้รับมือสถานการณ์โควิดได้ง่ายกว่าหน่วยงานจากภายนอก เพราะคนในพื้นที่เกาะเกี่ยวกันได้ง่ายกว่า”
คำบอกเล่าของ คุณชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา และเลขานุการร่วมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 ที่ให้สัมภาษณ์กับรายการคลื่นความคิด FM 96.5 ในช่วง ‘สานพลังสร้างสุขภาวะ’
คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างการเรียนรู้และโอกาสใหม่ๆ ให้แก่พื้นที่จังหวัดสงขลาและอีกหลายจังหวัดโดยรอบในหลากหลายเรื่องราว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประคับประคองสถานการณ์ของผู้คนในพื้นที่ให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน เช่นกรณีของ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย”
“ปิ่นโตตุ้มตุ้ยมีความหมายหลายอย่าง การสื่อสารที่ฟังดูน่ารักช่วยลดความเครียด และยังรู้สึกว่าได้ทานอาหารและอิ่ม ประชาชนในพื้นที่ ใครที่ต้องการรับอาหารต้องมีปิ่นโตมารับเพื่อลดขยะ เรามีจุดวางปิ่นโต มีป้ายชื่อ จำนวนสมาชิกในครอบครัวมีกี่คน ครัวกลางที่รับบริจาควัตถุดิบจะได้จัดให้ครบ พอสิบเอ็ดโมงก็มารับปิ่นโตไป”
ปิ่นโตตุ้มตุ้ย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานเขตสุขภาพฯ และสมัชชาจังหวัดที่คุณชาคริตและเครือข่ายร่วมทำ ได้ขับเคลื่อนประเด็นอื่นๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงนำงานที่ทำมาบูรณาการ มีการดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่โดยใช้แอปพลิเคชัน I Met at Home ซึ่งเป็นกลไกจัดการฐานข้อมูล ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุติดเตียง หญิงหม้าย เด็กกำพร้า เป็นต้น ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานที่มีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้วทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานร่วมกันจนเกิดความไว้วางใจ กับอีกส่วนเป็นการลงสำรวจโดยกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่
“พอเกิดโควิด เราก็ชวนเครือข่ายมาจัดระบบ ให้ชุมชนมีตัวกลางแล้วนำมาต่อยอด อย่างตู้ปันสุขมีจุดอ่อนคือไม่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือได้ชัด แต่ถ้ามีการสำรวจ ลงทะเบียน
ล่วงหน้าจะช่วยได้ตรงจุดที่สุด เช่นที่ตำบลบ่อยาง มีกลุ่มคนจนเมืองที่ตกหล่นจากข้อมูลของท้องถิ่น เราก็มีตัวกลางเป็นชุมชนที่คอยประสานงาน” คุณชาคริตกล่าว
คุณชาคริตยังกล่าวถึงงานของสมัชชาสุขภาพจังหวัดด้วยว่า สมัชชาสุขภาพเป็นงานสานพลัง ทำให้สามารถสัมพันธ์กับหน่วยงานได้ง่าย ประสานความร่วมมือ เติมข้อมูลกัน และยังมีการนำ “ธรรมนูญตำบลน่าอยู่” มาใช้ปฏิบัติการสู้ภัยโควิด โดยในจังหวัดสงขลามี 20 ตำบลที่มีธรรมนูญสุขภาพตำบล มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน จนบางพื้นที่สามารถนำตัวอย่างจากอีกพื้นที่หนึ่งไปประยุกต์ใช้ได้ทันที
“นอกจากนี้ ยังได้ทำงานร่วมกับเขตสุขภาพฯ เขต 11 สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดอาหารสุขภาพ การตลาดออนไลน์ปรับตัวกันอย่างไร จัดรูปแบบตลาดชุมชนอย่างไร มีเรื่องเล่าจากตรังที่ทำโครงการเกลอกรีน เป็นการช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เขาสั่งมะม่วงจากมหาสารคาม 2 ตันลงมาที่ตรัง ภาคประชาสังคมแวะรับที่นครศรีธรรมราชจุดหนึ่ง พัทลุงจุดหนึ่ง แป๊บเดียวก็หมด” เลขานุการร่วม กขป. เขต 12 กล่าว
สิ่งสำคัญ เครือข่ายยังค้นพบแนวทางการทำธรรมนูญสุขภาพที่ต่างไปจากเดิม
“เราทำธรรมนูญสุขภาพฉบับแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ให้ชุมชนมาปรึกษาหารือเพื่อสร้างธรรมนูญขึ้น พอโควิดมา เราพบว่า วิธีการทำธรรมนูญอีกแบบคือ มีปฏิบัติการจริงก่อนแล้วแปลงเป็นข้อตกลงเองโดยธรรมชาติ ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากแบบนี้จึงท้าทายการต่อทำนโยบายหรือธรรมนูญในพื้นที่”
คุณชาคริตเปิดเผยด้วยว่า ในระยะต่อจากนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ การสร้างรายได้ การเชื่อมโยงอาหาร โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ โดยใช้เครือข่ายส่งต่อฐานทรัพยากรเข้าหากัน
“ผมคิดว่านี่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ เกิดการ Disrupt ทั้งโลก ก่อนเกิด New normal เราต้องอาศัยหัวใจความเป็นมนุษย์ ถ้าติดยึดกับเรื่องเดิมจะปรับตัวไม่ทัน ข้ามปัญหาไม่พ้น นี่จึงเป็นโอกาสให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายให้แน่นแฟ้นมากขึ้น” คุณชาคริต กล่าวทิ้งท้าย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147