คมส. เร่งมติสมัชชาสุขภาพภายใน 1 ปี เชื่อมทุกพรรคการเมืองเลิก ‘พาราควอต-แร่ใยหิน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คมส. ยกระดับ 77 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ใส่เกียร์ห้าแก้ปัญหาสุขภาวะคนไทยแบบเร่งด่วนภายใน 1 ปี ทั้งโรค NCD น้ำดื่มปลอดภัย และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมผลักดันพรรคการเมืองสร้างนโยบายยกเลิกพาราควอต-แร่ใยหินในกระแสการเลือกตั้งที่จะมาถึง
 
   การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 3/2561 มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีมากถึง 77 มติ โดยได้จัดลำดับความสำคัญและคัดแยกมติที่ควรขับเคลื่อนเร่งด่วน (Quick Win) ให้เห็นผลสำเร็จภายใน 1 ปี ประกอบด้วย มติด้านการแพทย์และสาธารณสุข มี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย มติเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (NCD) มติเกี่ยวกับการโฆษณาด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และมติที่เกี่ยวกับการบริการปฐมและบริการระบบสุขภาพเขตเมือง
 
   ส่วนมติด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ อยู่ใน Quick Win มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นมติเกี่ยวกับการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง: กรณีเด็กไทยกับไอที, ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน และน้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน อีกกลุ่มเป็นมติที่มีความท้าทายและเป็นปัญหาสำคัญของสังคม (Challenge) ได้แก่ เกษตรและอาหารในยุควิกฤต, ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนอีก 2 มติที่มีความท้าทายคือเรื่อง การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน
 
   “บางมติมีการขับเคลื่อนมานานแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการยกเลิกการใช้สารพาราควอตและมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน รวมถึงมติอื่นๆ ที่ประชุมจึงเห็นว่าในช่วงที่การเมืองมีความเข้มข้น ควรใช้บทบาทของพลังทางการเมืองเข้ามาสนับสนุนในการขับเคลื่อน โดยผลักดันเข้าเป็นนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงผลักดันผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอนโยบายด้านสุขภาพเสนอสู่รัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย”
 
   ในเรื่องของแร่ใยหิน คมส. ได้รับทราบผลสรุปของคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน โดย ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ได้นำเสนอข้อมูลระหว่างปี 2558-2559 ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยืนยันความถูกต้องในการวินิจฉัย พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุจากใยหินจริง 28 ราย ซึ่งล้วนมีประวัติสัมผัสใยหินจากการประกอบวิชาชีพและสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการผลักดันยกเลิกการใช้แร่ใยหินต่อไป
 
   สำหรับเรื่อง อุบัติเหตุทางถนน ที่สถิติยังสูง ปัจจุบันมีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนและมีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง สช. จะเป็นกลไกกลางโดยวางเป้าหมายจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 2 ปี ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2562-63 นี้ โดย สช. จะเป็นเวทีสานพลังทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ