- 21 views
คมส. บูรณาการทุกภาคส่วน ร่วมยกร่าง “ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง” ผนึกโครงการหมอครอบครัว-ประกันสุขภาพทั่วหน้า พร้อมประสานผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการวางนโยบายจัดระบบอาหารในโรงเรียนเร่งด่วนภายใน ๑ ปี และแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา สกัดการขายยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรุนแรงโดยร้านค้า หวังป้องกันการใช้เกินจำเป็น
เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐ มีการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการฯ จากทุกภาคส่วนเข้าร่วม ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เปิดเผยว่า การให้บริการสุขภาพในเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ถือว่าสำคัญมากต่อสุขภาวะของประชาชน ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ เคยมีมติเรื่อง “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยมีการจัดทำ “ร่างแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง” เสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การยกร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมการ และบูรณาการการทำงานร่วมกัน และสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูประบบบริการสุขภาพด้านปฐมภูมิ ที่มี โครงการคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ซึ่งเป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการขยายระบบบริการปฐมภูมิในเขตเมืองเพื่อดูแลประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ (Primary health care in urban)
นอกจากนี้ คมส. ยังรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อน ๒ มติสำคัญ ได้แก่ มติ “ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน” โดยจะผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ และเตรียมหารือกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศเร่งดำเนินงาน หลังจากที่ผ่านมาริเริ่มในพื้นที่นำร่องจังหวัดสุรินทร์ และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยประสานผู้ว่าราชการจังหวัดให้เห็นความสำคัญและขับเคลื่อนร่วมกันทั้งจังหวัด
“การขับเคลื่อนเฉพาะพื้นที่นำร่อง อาจต้องใช้เวลานานและไม่ทันสถานการณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้ดำเนินการเรื่องสำคัญๆ ทันทีและมีความก้าวหน้าเร็วขึ้น เพราะในช่วง ๑ ปีจากนี้ สำคัญมากในการปูพื้นฐานต่อให้กับรัฐบาลใหม่”
ศ.คลินิก เกียรติคุณ ปิยะสกล กล่าวอีกว่า คมส. ยังรับทราบควมก้าวหน้ามติ “วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฯ แล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ จะมีการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมการจัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติงานการจัดการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ซึ่งจะลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายนนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use: RDU) และลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU hospital) ทั้งในและนอกสังกัด สธ.
“เรื่องนี้ยังต้องมีมาตรการเชิงปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย เพราะพบการขายยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมเหตุผลให้กับประชาชน โดยเฉพาะในร้านขายของชำ ยังลักลอบขายยาในบางพื้นที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไปตรวจตราให้เข้มงวดมากขึ้น”
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข และกรรมการ คมส. กล่าวว่า ขณะนี้ อย. กำลังทบทวนการจัดประเภทยา (Reclassification) เพราะปัจจุบันร้านขายยาส่วนมากมักจัดยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์รุนแรงให้กับประชาชนมากกว่าที่จะจัดยาตามความหนักเบาของอาการ โดยยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรุนแรงควรจะกำหนดให้แพทย์สั่งเท่านั้น
ด้าน ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ภาครัฐควรบูรณาการหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์เชื้อดื้อยามีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่กระจายในสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวและชุมชนด้วย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143