สช. ผุด ‘สุรินทร์ โมเดล’ ผนึกชุมชนพัฒนาระบบอาหารในโรงเรียน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. ดึงทุกภาคส่วนร่วมทีมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน” ขยายผลสู่รูปธรรม ยกย่องจังหวัด “สุรินทร์” ออกแบบระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นอาหารมีคุณค่า ปลอดภัย ใกล้ชิดชุมชน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่
 
   เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมยกระดับและขยายผลรูปธรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน” ซึ่งเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้ง ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ มีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา ภาคประชาสังคม และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์ ฯลฯ
 
   นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย ประธานการประชุมฯ เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนไทยเผชิญปัญหาทุพโภชนาการจำนวนมาก โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่ยังมีระบบการจัดการอาหารไม่ดีพอ ส่งผลให้เด็กรูปร่างอ้วนเตี้ยกว่าเกณฑ์ หรือมีโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (NCDs) ต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งโรคเบาหวาน หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาโภชนาการในโรงเรียนให้มีคุณภาพ เชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ด้วย
 
   “ประเด็นสำคัญคือ การเชื่อมโยงระบบอาหารในโรงเรียนเข้ากับแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน และพฤติกรรมการบริโภคที่ดี เพื่อเสริมสร้างเด็กไทยให้มีสติปัญญาและศักยภาพ เป็น Smart Citizen และสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ให้เราพร้อมแข่งขันระดับโลก”
 
   อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างเป็นระบบ โดยที่ประชุมได้นำต้นแบบการจัดการระบบอาหารในโรงเรียนใน ๑๒ ตำบลของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ร่วมกันสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม และขยายผลครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อสนับสนุนอาหารในโรงเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัย
 
   นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน เริ่มจากจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อออกแบบระบบที่จะทำให้การทำงานเรื่องนี้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อาจใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ปี พัฒนารูปแบบและข้อเสนอเชิงนโยบาย นำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.)
 
   ทั้งนี้ ระบบอาหารในโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับ ๔ เรื่อง ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านการอาหารของประเทศไทย ประกอบด้วย ๑.คุณภาพอาหาร ๒.ความปลอดภัยด้านอาหาร ๓.ความมั่นคงด้านอาหาร และ ๔.อาหารศึกษา พร้อมเร่งจัดทำ “งานวิจัยชุมชน” เพื่อสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วม โดยต้องหารือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่อไป
 
   นางสาวจิราพร ขีดดี สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย คณะกลไกขับเคลื่อนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จะมีเวทีพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เวทีแรกเป็น ตลาดนัดความรู้ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗-๘ กันยายนที่จะถึงนี้ เพื่อให้ทั้ง ๑๒ พื้นที่นำร่องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงนำเสนอบทเรียนจากรูปธรรมการขับเคลื่อนเพื่อเสนอในระดับนโยบาย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ให้เห็นความสำคัญ ผลักดันมาตรการมารองรับการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม
 
   “คณะทำงานฯ มองว่า ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนจะสำเร็จได้ ต้องมีทั้ง ๒ ด้าน คือ บูรณาการแนวราบ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และการมี นโยบายรองรับ เหมือนกับที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ให้นำโปรแกรมสำเร็จรูป Thai School Lunch ไปใช้จัดอาหารกลางวันให้กับเด็ก ทำให้เกิดความร่วมมือจากโรงเรียนในวงกว้างมากขึ้น”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ