สช. ผนึกเครือข่าย 4 ภาค ขับเคลื่อน 4 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จัดเวทีเวิร์กช็อป ๔ ภาค ๕ เวที เดินหน้า ๔ ประเด็นสำคัญตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ มุ่งสู่ภาคปฏิบัติแก้ปัญหาสุขภาวะประชาชน ทั้งเรื่องน้ำดื่ม, ที่อยู่อาศัย, เด็กปฐมวัย และปราบยุงลาย เวทีท้ายสุดผนึกเครือข่ายในพื้นที่ภาคกลาง ๑๑ จังหวัด สานพลังข้ามหน่วยงานเป็น ‘ทีมจังหวัด’ พร้อมยกระดับสู่แผนงานงบประมาณประจำปี ๒๕๖๑
 
   เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิรูปสังคมด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานปัญญา” เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันตก ณ ห้องประชุมทวารวดี ๑ โรงแรมไมด้าทวารวดีแกรนด์ จังหวัดนครปฐม มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน จาก ๑๑ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, นครปฐม, ประจวบคีรีขันธ์, อยุธยา, เพชรบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมเรื่อง “ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ: ขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน” ว่า ภารกิจของ สช. ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ คือการผลักดันให้นโยบายสาธารณะด้านต่างๆ ของประเทศ มีมิติของความห่วงใยสุขภาพ และประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อไปสู่เป้าหมาย “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in all policies) และ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยการสานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่ง สช. พร้อมจะทำหน้าที่เชื่อมประสานทุกภาคีเครือข่าย หน่วยงาน และองค์กรมาร่วมกันสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้น
 
   “นโยบายสาธารณะจะต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่พิธีการ แต่อยู่บนพื้นฐานทางปัญญา การใช้ข้อมูล หลักฐานวิชาการ สติสัมปชัญญะ มาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ สร้างนโยบายที่มีคุณภาพ และทุกคนในสังคมรู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าของ”
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า หลังจากใช้เครื่องมือตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติฯ มาได้ ๑๐ ปี สร้างความเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมากมาย อาทิ เกิดสมัชชาสุขภาพในทุกจังหวัด มาแก้ปัญหาสุขภาพตามบริบทของพื้นที่ รวมถึงอีก ๓-๕ ปีข้างหน้า จะเกิด ธรรมนูญสุขภาพตำบล ในพื้นที่ ๘๐% ทั่วประเทศ และล่าสุด มหาเถรสมาคม จะจัดทำ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ คาดว่าจะประกาศใช้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ นี้
 
   ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ระดับชาติสู่ปฏิบัติการในระดับพื้นที่” ว่า เป้าหมายการประชุมร่วมกับเครือข่ายพื้นที่ภาคกลาง เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ใน ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน, การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ, การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยเน้นหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนมติอยู่ปัจจุบันให้เกิดพลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกลไกประชารัฐ ตัวแทนภาครัฐ วิชาการ ประชาสังคม ทำงานอย่างสอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกัน
 
   “เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ภาคกลาง นับเป็นเวทีที่ ๕ หลังจาก สช. ได้จัดกระบวนการขับเคลื่อนมาแล้วทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ นำแนวทางกลับไปปรับแผนและวิธีทำงาน เพื่อสนับสนุนเชื่อมโยงกันในพื้นที่สู่ภาคปฏิบัติในชุมชน เกิดรูปแบบการทำงานที่ทุกฝ่ายร่วมกันแบบไม่มีพรมแดน เกิดเป็นทีมจังหวัดที่แข็งแกร่ง รวมถึงนำไปบรรจุเป็นแผนงานในงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๑”
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการนำเสนอรายละเอียดของแต่ละมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง ๔ ประเด็น เพื่อสร้างความเข้าใจให้ภาคีเครือข่าย ก่อนแบ่งกลุ่มย่อย แลกเปลี่ยนสถานการณ์ และความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด มีการประเมินสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ แผนงาน กิจกรรม และงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้เห็นต้นทุนของจังหวัด ก่อนร่วมกันออกแบบกิจกรรมการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตามความก้าวหน้าและนำมาสรุปเป็นความรู้ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกันต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ