สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ สุดยิ่งใหญ่ คจ.สช.ตั้งเป้าดึงเครือข่ายร่วมเวที ๕,๐๐๐ คน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ที่ประชุม คจ.สช. เห็นชอบรูปแบบจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ วันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงานถึง ๕,๐๐๐ คน โฟกัสความสำเร็จของเครื่องมือตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ พร้อมยกระดับความสำคัญเป็นเครื่องมือนโยบายสาธารณะของประเทศที่หนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างแข็งแกร่ง
 
   คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๐ มีการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ณ โรงแรมรอยัลฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.นครนายก โดยมี นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน ร่วมด้วยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเครือข่ายประชาสังคม อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น
 
   นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนดำเนินงานและรูปแบบการจัดงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ โดยเบื้องต้นกำหนดจัดขึ้นวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ อาคาร อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้กรอบ ๕ แนวทาง คือ
๑.คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะร่วมกัน และเน้นการเปิดพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อยได้เข้ามามีส่วนร่วม
๒.ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน และวางแผนการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง รวมทั้งประสานกับหน่วยงานองค์กรเจ้าภาพร่วมจัดด้วย
๓.องค์ปาฐก/วิทยากรในงาน จะเชิญรัฐมนตรีว่าการ ๖ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
๔.ออกแบบเชิงพิธีกรรมเพื่อยกระดับเครื่องมือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศ
๕.การยกระดับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่ระดับนานาชาติ โดยเชิญเครือข่ายจากองค์กรต่างประเทศมาเข้าร่วมงาน
 
   “การจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ จะมุ่งพัฒนารูปแบบ วิธีการ และกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ตามข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ เมื่อช่วงวันที่ ๒๕–๒๖ มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์มาก”
 
   สำหรับประเด็นหลัก (Theme) ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ประธาน คจ.สช. กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาและรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ ซึ่งจะอยู่ภายใต้กรอบแนวนโยบาย แผนงาน และแนวโน้มของสถานการณ์ในระดับประเทศและระดับสากล ประกอบด้วย ๑.การปฏิรูปและประเด็นด้านสุขภาพตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับประชามติ ๒.ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี ๓.แผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ๔.แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ๕. ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ๖.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ และ ๗.แนวนโยบาย “ประเทศไทย ๔.๐”
 
   “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ จะมีความพิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา ในเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะภายใต้กรอบ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งปีนี้ครบรอบ ๑๐ ปี ดังนั้นในงานจะมีภาพความเชื่อมโยงนโยบายสาธารณะและเครื่องมือตาม พ.ร.บ. สุขภาพฯ กับประเด็นหลักหรือ Theme ที่สอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ระดับประเทศและสากล โดยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ในงานก็จะออกแบบให้เข้ากับ Theme”
 
   ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีกลไกทำงานร่วมกับ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Think Tank) ในการกำหนดประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่จะนำมาพัฒนาเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยประเด็นทางยุทธศาสตร์นี้ควรเป็นประเด็นที่เข้าหลักเกณฑ์ ๕ ข้อ คือ ๑.เป็นความต้องการ เป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคม ๒.สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและสังคมไทยในปัจจุบัน และอาจส่งผลต่ออนาคตหรือนำสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างใน ๕ ปีข้างหน้า ๓.สอดคล้องกับนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ และธรรมนูญว่าด้วยระบบระบบสุขภาพแห่งชาติ ๔.เป็นประเด็นที่ยังเป็นช่องว่างของสังคม หรือไม่มีเจ้าภาพ หน่วยงานรับผิดชอบในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ๕.เป็นประเด็นที่มีเจ้าภาพหรือหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ไม่มีกลไกหรือกระบวนการที่นำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย
 
   “ประเด็นที่ทีม Think Tank เห็นว่าสำคัญ ควรที่จะนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ การจัดการปัญหาขยะ การรองรับสังคมผู้สูงอายุ สุขภาพของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน ผู้พิการ แรงงานต่างด้าว ความมั่นคงด้านอาหาร อุบัติเหตุ การกระจายอำนาจด้านสุขภาพสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบบราชการที่พึงประสงค์ และการบริหารจัดการ Big Data ด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น ยังคงต้องมีกระบวนการจัดลำดับความสำคัญและกำหนดประเด็นที่มีข้อมูลวิชาการหรือหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับด้วย”
 
   นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร รองประธาน คจ.สช. กล่าวว่า หากภาคีเครือข่ายหรือหน่วยงานใดมีประเด็นที่สนใจและมุ่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ก็สามารถนำเสนอเข้ามาได้ โดย สช. จะเป็นหน่วยงานประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยกันพัฒนาไปสู่ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ และขับเคลื่อนไปสู่นโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมในภาพรวมต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ