วางเกณฑ์คัดเลือก ๘ พื้นที่ต้นแบบ สร้างโมเดลเกษตร-อาหารปลอดภัย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มมติเกษตรและอาหาร ที่มี รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๑.๕ เกษตรและอาหารในยุควิกฤต มติ ๕.๕ ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ มติ ๕.๘ การพัฒนากลไกและกระบวนการ ที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร
 
   โดยได้วางแนวทางการขับเคลื่อนไว้ ๓ ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ๑.การพัฒนา ปรับแก้กฎหมาย และระเบียบ ๒.การผลักดันส่งเสริม สนับสนุนการควบคุม บังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ และ ๓.การหา บทเรียน จากพื้นที่ต้นแบบ การจัดระบบเกษตรและระบบอาหาร ที่ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร เพื่อขยายผล
 
   ในประเด็นการหา “พื้นที่ต้นแบบ” เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ขยายผลในวงกว้าง ได้มีการตั้ง คณะทำงานคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบ โดยมี รศ.ดร.จิราพร เป็นประธาน และมีกรรมการ ที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ มีการหารือครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
 
   “เราจำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์การให้คะแนนให้ชัดเจน เพื่อตอบต่อสังคมได้ โดยพื้นที่ต้นแบบที่คัดเลือกครั้งนี้ จะพิจารณาจากภาพรวมเป็นหลัก อาจไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ ๆ มีระบบการจัดการเกษตรและอาหารปลอดภัย จนถึงระดับมาตรฐานสากล เพียงได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของพื้นที่นั้น ๆ ก็ได้” รศ.ดร.จิราพร ระบุ
 
   ขณะที่ อ.ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาคณะทำงาน กล่าวเสริมว่า การคัดเลือกพื้นที่ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแข่งขันว่าพื้นที่ใดดีที่สุด เพื่อมอบรางวัล แต่ต้องการเลือกพื้นที่ ๆ หลากหลาย สามารถนำมาถอดบทเรียน เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะต่อไปได้มากกว่าการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานได้วางหลักเกณฑ์การให้คะแนนพื้นที่ต้นแบบ ๒ ประเภท คือ ต้นแบบด้านการจัดระบบเกษตรที่ปลอดภัย และต้นแบบด้านการจัดระบบอาหารที่ปลอดภัย

 
   สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อคัดเลือก พื้นที่ต้นแบบด้านการจัดระบบเกษตรที่ปลอดภัย พิจารณาจากความเป็นไปได้ในการขยายผล ความยั่งยืนของการดำเนินการ และมาตรฐานความปลอดภัยทางการเกษตร กำหนดการให้คะแนนตั้งแต่ ๑-๕ คะแนน ตามระดับการจัดการของพื้นที่นั้น ๆ ว่ามีการบริหารจัดการแบบปัจเจก หรือไปถึงระดับที่มีการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ส่วน พื้นที่ต้นแบบด้านการจัดระบบอาหารที่ปลอดภัย คณะทำงานจะพิจารณารายละเอียด เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง
 
   รศ.ดร.จิราพร มอบให้คณะทำงานร่วมกันให้คะแนนและจัดลำดับพื้นที่ ตามที่ทาง สมัชชาสุขภาพจังหวัด ทั้ง ๗๗ จังหวัด ได้ส่งข้อมูลมายังคณะทำงานฯ เพื่อคัดเลือกให้เป็นต้นแบบ โดยให้เหลือ ประเภทละ ๔ พื้นที่ เท่านั้น
 
   สำหรับขั้นตอนและระยะเวลา การกลั่นกรองพื้นที่ การถอดบทเรียน การลงพื้นที่จริงเพื่อดูผลงาน และวางแนวทางเพื่อขยายผลความสำเร็จของพื้นที่ต้นแบบทั้ง ๘ แห่ง จะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำเสนอในงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ที่จะจัดขึ้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ