- 48 views
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ได้แต่งตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมอบให้ นพ.กิจจา เรืองไทย เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะทำงานจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวน ๑๕ คน และที่ปรึกษาอีก ๕ คน
คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้ประชุมร่วมกันครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยได้มีการยกร่างแนวทางการขับเคลื่อนมติฯ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รวมทั้งวางเป้าหมายติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาฯ และรายงานความก้าวหน้าต่อ คณะอนุกรรมการฯ ต่อไป
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เปิดเผยว่า สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ทั้งปริมาณการเกิดอุบัติเหตุและยอดผู้เสียชีวิต ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานตาม มติสมัชชาสุภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” จึงมีความสำคัญมาก และต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงาน คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน มุ่งเน้นให้ กลไกในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน ได้เข้ามีบทบาทในการแก้ปัญหามากขึ้นโดยกำหนดกรอบดำเนินการ คือ ๑. พัฒนาพื้นที่ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน ในพื้นที่ระดับอำเภอและตำบล โดยการพัฒนาความร่วมมือของกลไก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงพื้นที่ สนับสนุนให้เกิด แผนปฏิบัติการจัดการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอและระดับตำบล
พร้อมเชื่อมโยงกลไก สมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่มีการทำงานในประเด็นอุบัติเหตุทางถนน ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานระดับจังหวัด เพราะเชื่อว่าการทำงานแบบภาคีเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วม จะประสบความสำเร็จมากกว่า
นอกจากนี้ ต้องทำการประสาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือและวางแนวทางการขยายผลจาก พื้นที่ต้นแบบ ต่อไป
สำหรับแนวทางการคัดเลือกพื้นที่ หรือจังหวัดต้นแบบนั้น คณะทำงานฯ กำหนดไว้ ๓ แนวทาง คือ ๑. เป็นพื้นที่ๆ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนั้นๆ ให้ความสำคัญและเป็นประเด็นของสมัชชาสุขภาพจังหวัด (ขอนแก่น/บึงกาฬ/ลำปาง) หรือกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด วางแผนที่จะทำงานในประเด็นนี้ ๒. เป็นพื้นที่ๆ สถิติการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงและมีจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ๓. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญ และสนใจทำงานประเด็นนี้
กรอบดำเนินการในส่วนที่ ๒. ผลักดันการปรับแก้กฎหมายหรือระเบียบที่เอื้อให้ท้องถิ่นและภาคประชาสังคม มีบทบาทในการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยประสานการทำงานร่วมกับกลไกของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อเสนอปรับแก้ไขระเบียบ การกระจายอำนาจและระเบียบด้านการเงิน การคลัง
๓. ผลักดันให้เกิด “มาตรการองค์กร” ด้านความปลอดภัยทางถนน โดยการรณรงค์ประสานความร่วมมือหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทำให้เกิดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน ๔. การติดตามความก้าวหน้า การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ อาทิ การจัดประชุมติดตามความก้าวหน้ากับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง การประสานข้อมูล การติดตามข่าว ๕. การจัดประชุมคณะทำงาน สรุปผล และวางแนวทางขับเคลื่อนมติต่อเนื่อง ๖. การสื่อสารกับสาธารณะ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
“กรอบแนวทางการดำเนินการนี้ จะเสนอให้คณะอนุกรรมการฯได้รับทราบ ต่อจากนั้นคณะทำงานฯ ก็จะมาร่วมกันกำหนดรายละเอียดการดำเนินการ ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน ๒๐ เดือน นับจากเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ตามที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้กำหนดไว้”
คณะทำงานขับเคลื่อนมติฯ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับแผนการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ใช่ดำเนินการเพียงช่วงเทศกาลสั้นๆ ไม่กี่วัน เพราะสถิติของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของทุกเดือน มีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดือนที่มีเทศกาล
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)ในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า ตลอดระยะกว่า ๖ ปี หลังจากมี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีความก้าวหน้า การจัดทำโครงสร้างการดำเนินการ และการขับเคลื่อนมติร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม คือการผลักดันยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตใบขับขี่ การลดระดับเพดานปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะทั่วไป และการจัดทำหลักสูตรความปลอดภัยทางถนน เริ่มให้ความรู้ในสถานศึกษา ฯลฯ
“การดำเนินการที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นตามนโยบายของส่วนกลาง แต่การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นยังน้อย ทั้งๆ ที่ อยู่ใกล้ชิด และเข้าใจปัญหาได้ดีที่สุด ดังนั้น กลไกการดำเนินงานของคณะทำงานฯ เราจึงได้มุ่งเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น ผ่านโครงสร้างที่จัดทำไว้แล้ว ปลดล็อก กฎระเบียบ การเบิกจ่ายงบประมาณ ให้ท้องถิ่นสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอุบัติทางถนน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับกรอบแนวทางดังกล่าว ของคณะทำงานฯ โดยมองว่า นโยบายการแก้ปัญหาที่ออกจากส่วนกลาง บางครั้งไม่สามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่ และเป็นการแยกส่วนความรับผิดชอบของหน่วยงาน ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังคงติดปัญหาเรื่อง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด จนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้อย่างเต็มที่
“ผมคิดว่าเพื่อให้เกิดการส่วนร่วมของพื้นที่จริงๆ และทำให้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ จัดทำระบบ บูรณาการ ทุกหน่วยงานให้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143