- 18 views
เวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ วันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคมนี้ ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการกำหนด ร่าง ระเบียบวาระสำคัญ อย่างน้อย ๒ ประเด็น ที่ถือว่า...น่าสนใจและใกล้ตัวคนไทยจริงๆ นั่นคือประเด็น “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน เมืองสุขภาวะอย่างยั่งยืน” และ “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน”
โดยล่าสุดเมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๙ มีการ ประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑ ระหว่างประธาน-เลขานุการ คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น และคณะอนุกรรมการวิชาการ โดยมี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการวิชาการ เป็นประธาน ในส่วนของประเด็น “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน เมืองสุขภาวะอย่างยั่งยืน” มี อ.เรืองยุทธ์ ตีระวนิช เป็นประธานคณะทำงานฯ ได้รายงานถึงความก้าวหน้าในการรวมพลังทุกภาคส่วน มาร่วมกันบูรณาการและยกร่างเอกสาร ร่าง ข้อเสนอ
โดยมองโจทย์ปัญหาขณะนี้ คือ ๕๐% ของประชากรในเมือง ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ให้กับครอบครัวได้ แม้ การเคหะแห่งชาติ หรือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะจัดโครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านประชารัฐ บ้านมั่นคง แต่ยังไม่ตอบสนองที่อยู่อาศัยแบบมี สุขภาวะ ที่ดี และไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ ขณะที่การกำหนดนโยบายที่อยู่อาศัยของรัฐบาล ยังไม่ต่อเนื่อง เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ และขาดการวางแผนในทุกระดับ ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ลุล่วงไปได้
“โดยทั่วไปแล้ว พื้นที่ ๓ ใน ๔ ของเมือง คือที่พักอาศัยและบ้าน ดังนั้น ถ้าเมืองไม่ดี ที่อยู่อาศัยก็จะดี ไม่ได้อย่างแน่นอน ทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด ทั้ง สภาพแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แม้จะมีโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยภาครัฐและเอกชน เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังขาดบูรณาการ ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ไม่มีการกำหนดนโยบายและแผนที่ชัดเจน” ดังนั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ จึงต้องการสร้างระบบร่วมกัน มี พื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนมาบูรณาการ ปฏิรูปการจัดการที่อยู่อาศัย สร้างความเป็นธรรม ปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มองบ้านเป็นสินค้า มาสู่เมืองที่ทุกคนมีสุขภาวะดี มีแผนผังและงบประมาณสนับสนุน พร้อมทั้งนำแนวคิดขององค์การอนามัยโลก และ องค์การสหประชาชาติ มาร่วมกำหนดทิศทาง
ร่างมติฯ มุ่งเน้นบูรณาการ การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผน ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย อาทิ ขอให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีเวทีเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย สุขภาวะในระดับเมือง โดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และจัดทำ ธรรมนูญเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับทุกคน เป็นต้น ขณะที่ รองเลขาธิการ สช. อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะมีการจัดเวิร์คชอปประเด็นนี้อีกครั้งเดือนตุลาคม โดยเป็นเวทีรับฟังความเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย แนะนำว่า ให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นและ สื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและมีส่วนร่วม
ในประเด็น “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” มี ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ คณะทำงานฯ ได้รายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการ ในการพัฒนาเนื้อหาสาระ พร้อมยกร่างเอกสาร และ ร่าง ข้อเสนอว่าต้องการทำให้เกิดมาตรฐานน้ำดื่มของประเทศไทย ซึ่ง การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ประเมินว่า ขณะนี้มีมากถึง ๒๐๐ รูปแบบ จึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิด มาตรฐานเดียวกัน เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
พร้อมกันนั้น ได้ใช้มาตรฐานตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UN SDG Goals (Sustainable Development Goals) ที่กล่าวถึงสิทธิของผู้คน ในการบริโภคน้ำดื่มที่สะอาด มีสุขอนามัย จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ใน ๔ ประเด็นคือ ทุกคนต้องเข้าถึงได้ ปลอดภัย ราคายุติธรรม และสามารถจ่ายได้ มาเป็นแนวทาง
ซึ่งประเทศไทย “การเข้าถึงน้ำดื่ม” ไม่มีปัญหา แต่เรื่องราคายุติธรรมและสามารถจ่ายได้ เป็นประเด็นที่ควรมีการพูดคุยกัน ถึงแม้กระทรวงพาณิชย์จะมีประกาศราคาน้ำดื่มไว้ที่ราคาขวดละ 7 บาท แต่เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ดังนั้นจึงควรหารือกันเพื่อให้เกิดการควบคุมราคา
คณะทำงานฯ ได้ยกร่างข้อเสนอ อาทิ การให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานน้ำดื่ม ร่วมกันกำหนดมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยในประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานเดียว, ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อนุกรรมการวิชาการกล่าวว่า อยากให้มีการทำ “โรดแมป”สำหรับประเด็นน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน จะได้เห็นชัดว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการบ้าง ส่วน อ.ภารนี สวัสดิรักษ์ อนุกรรมการวิชาการเสนอแนะว่า ควรระบุรายละเอียดเรื่องข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคปัญหาให้ชัดเจน
ทั้งนี้หมดนี้ คือ ความก้าวหน้า ที่คณะทำงานทั้ง ๒ ประเด็น ที่กำลังพัฒนาข้อเสนอนโยบาย เพื่อเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ และในช่วงเดือนตุลาคม จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเฉพาะประเด็น เพื่อนำมาปรับปรุงร่างข้อเสนอนโยบายให้สมบูรณ์มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143