สช. เร่งขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ หวังพัฒนาระบบอาหารนักเรียนและเด็กเล็กรับวิกฤตโควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช.ประสาน 5 กระทรวงหลัก ศึกษาธิการ-มหาดไทย-เกษตร-สาธารณสุข-อุดมศึกษาฯ และเครือข่ายภาคีในพื้นที่ ปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนข้อเสนอเพิ่มคุณภาพการจัดการอาหารกลางวันของนักเรียนและเด็กเล็กในโรงเรียนทั่วประเทศ มุ่งเสริมสร้างพัฒนาการเด็กทั้งด้านกาย จิต สังคม ปัญญา พร้อมสร้างข่ายความร่วมมือ โรงเรียน-ชุมชน-ท้องถิ่น รับวิกฤตโควิด-19
 
   วันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมติดตามข้อเสนอเชิงระบบการพัฒนาระบบอาหารนักเรียนและเด็กเล็กรับวิกฤตโควิด-19 เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน” และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 มุ่งขยายพื้นที่ดำเนินการทั่วประเทศและเตรียมการรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคมหลังวิกฤตโควิด-19
 
   หลังประชุม นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่าระบบการจัดการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนและเด็กเล็กที่รัฐบาลได้ให้งบประมาณสนับสนุนมานานแล้ว มีปัญหาเร่งด่วนเรื่องเพิ่มคุณภาพ และปริมาณให้เพียงพอ เหมาะสมกับวัยของนักเรียน จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐ เช่นกระทรวงต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ ต้องประสานจับมือกันให้แน่นมากขึ้นในการพัฒนาปรับปรุงการจัดการอาหารในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กอย่างเป็นระบบครบวงจร และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญและมีฉันทมติในเรื่องจะร่วมกันพัฒนา“ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน” และในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ได้เห็นชอบข้อสั่งการให้จังหวัดสุรินทร์นำร่องดำเนินการจัดการพัฒนาระบบจัดการอาหารในโรงเรียนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดโดยเร็ว และให้ สช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
 
   เลขาธิการ คสช. เปิดเผยต่อว่าหลังมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาระบบจัดการอาหารในโรงเรียนมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและในเดือนกันยายน ๒๕๖๒ สช. ได้จัดประชุมร่วมกับ 5 กระทรวงหลักประกอบด้วย ศึกษาธิการ-มหาดไทย-เกษตร-สาธารณสุข-อุดมศึกษาฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งเครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันสังเคราะห์บทเรียน ปัญหาอุปสรรคและเห็นว่า “การจัดอาหารโรงเรียนที่ผ่านมา ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหาโภชนาการที่ทั้งขาดและเกิน คุณภาพอาหาร ความปลอดภัย การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อพฤติกรรมการบริโภคที่ดีของเยาวชน ซึ่งท้ายที่สุด จะเป็นอุปสรรคต่อกำลังการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้มีระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ” ที่ประชุมเดือนกันยายน ๒๕๖๒ ดังกล่าวมีข้อเสนอต่อ ๕ กระทรวงหลัก ดังนี้
 
   ๑. กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาปรับค่าอาหารนักเรียนต่อคนต่อวันให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการกินอาหารบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น การให้ความสำคัญต่อการติดตามและประเมินผลการจัดการอาหารในโรงเรียนควบคู่ไปกับการประเมินสภาวะโภชนาการของนักเรียนโดยชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วม
   ๒. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาปรับระเบียบข้อบังคับเพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนระบบการจัดอาหารในโรงเรียนและจัดซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่เป็นผลผลิตอินทรีย์จากชุมชน
   ๓. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อขยายพื้นที่ผลิตผลผลิตอินทรีย์ทั้งการเกษตร ปศุสัตว์และประมง
   ๔. กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ตลอดจนการจัดทำ Health Survey เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์สุขภาวะของเด็กและเยาวชนทั้ง ๔ มิติ ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนจบระดับมัธยม
   ๕. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนา BIG Data ที่เชื่อมการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนที่เชื่อมโยงการผลิตในชุมชนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนา AI เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและแก้ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ
 
   นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ คสช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการพัฒนาระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน ได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการและกำหนดแนวทางการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เป็นกลไกกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และกระทรวงศึกษาธิการได้ทำโครงการอาหารกลางวันในช่วงเวลาเปิดเทอมจริง และถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤต ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขยายอาหารกลางวันให้นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปีที่สาม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการประกอบอาหารกลางวันที่โรงเรียนและและให้นักเรียนรับอาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน แบบ Take home ขณะที่กระทรวงอุดมศึกษาฯ กำลังพัฒนา BIG Data เชื่อมการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนที่เชื่อมโยงการผลิตในชุมชนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “การพัฒนาระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน มุ่งเสริมสร้างพัฒนาการเด็กทั้งด้านกาย จิต สังคม ปัญญา พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โรงเรียน-ชุมชน-ท้องถิ่น รองรับการขับเคลื่อนทั้งในสถานการณ์ปกติและรับวิกฤตโควิด-19 ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตของประชาและชุมชนอย่างมาก” รองเลขาธิการ คสช. กล่าว
 
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ