3 หน่วยงานผนึกกำลังขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ สร้างกลไกเฝ้าระวัง เกษตร-อาหาร ปลอดภัย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็น เกษตรและอาหารปลอดภัย มีความก้าวหน้าอย่างมาก และอยู่ในความสนใจของทุกๆ ภาคีเครือข่าย เพราะถือเป็นเรื่องปากท้องชาวบ้าน ใกล้ชิดประชาชนจริงๆ
 
   ล่าสุดการประชุม คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย เมื่อเร็วๆนี้ ที่มี รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธาน มีการรายงานว่า ขณะนี้ ๓ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาระบบการจัดการ เฝ้าระวังและเตือนภัย สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ
 
   รศ.จิราพร กล่าวว่า ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีการนำโมเดลตัวอย่างของ ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ในประเทศต่างๆ มาศึกษาเปรียบเทียบ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป เป็นต้น เชื่อว่า ถ้าใช้หลักวิชาการนำหน้า บวกกับการมีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีในระยะยาว เกิดการปรับปรุง ไปสู่การผลิตที่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหลังจากได้แนวทางที่ชัดเจนแล้ว จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้างต่อไป
 
   “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัยที่เหมาะสม แน่นอนว่า อาจมีผลกระทบกับผู้ผลิตตามมา แต่จะลด ความวิตกกังวลของผู้บริโภค สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเป็นระบบที่ให้ชุมชนและพื้นที่ สามารถมีส่วนร่วม จึงจะได้ผลลัพธ์อย่างแท้จริง”
 
   ด้านตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานความก้าวหน้าของการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕ อาทิ เกณฑ์การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอน การเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
   ส่วนร่าง พ.ร.บ.สารเคมี นั้น ทางศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี (IPCS) สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) รายงานว่า อยู่ระหว่างดำเนินการโดย คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี
 
   สำหรับการจัดทำ ทำเนียบสารเคมี ยังคงดำเนินการต่อเนื่องเป็นเล่มที่ ๒ พร้อมแนวคิดจัดตั้ง “องค์กรกลาง” ขึ้นมาดูแล คาดว่าจะมีงบประมาณ มารองรับการจัดตั้งได้ในปี ๒๕๖๑ ซึ่ง รศ.จิราพร เสนอแนะเพิ่มทางเลือกความร่วมมือ ไปสู่ภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อสนับสนุนงบประมาณ นอกเหนือจากการรองบประมาณภาครัฐเพียงอย่างเดียว
 
   คณะทำงานฯ ยังได้แลกเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือก พื้นที่ต้นแบบ ที่มีระบบการทำเกษตรและอาหารปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร โดย สช.ประสานงานกับ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้ง ๗๗ จังหวัด แล้วให้เสนอพื้นที่หรือโครงการ ที่จะเป็น ต้นแบบ ส่งให้กับคณะกรรมการคัดเลือกเหลือประมาณ ๘ พื้นที่ เพื่อถอดบทเรียน สื่อสารสาธารณะ และขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป
 
   “เราต้องนำตัวอย่างดีๆ มาสร้างความตระหนักให้กับสังคมว่า ผู้ปลูก ผู้ผลิตที่ทำดี ก็สามารถอยู่รอดได้” รศ.จิราพร ย้ำในที่ประชุม
 
   ส่วนความก้าวหน้าในการกำกับ การโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรและขายตรง ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม กำลังร่วมกันวางกลไกการกำกับดูแลการโฆษณา คาดว่าจะมีความก้าวหน้าภายในเดือนกรกฎาคมนี้
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ