ประสบการณ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเทศไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

ในอดีตการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ในประเทศไทยถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ซึ่งเป็นกลไกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ต่อมามีการแก้ไขฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2521 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2522 และฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแก้ไขปรับปรุงในปี พ.ศ. 2535 EIA ตามกฎหมายฉบับนี้มีฐานะเป็นเครื่องมือประกอบการอนุมัติหรืออนุญาตการดำเนินโครงการ

ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการจากการทำ EIA ไม่ว่าจะเป็นการขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากผู้มีส่วนได้เสีย ประเด็นการประเมินไม่ครอบคลุมผลกระทบต่อสุขภาพในความหมายที่กว้างกว่าการเกิดโรคและการเจ็บป่วย ความห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้นำเข้ามาสู่กระบวนการประเมิน องค์ความรู้ท้องถิ่นไม่ได้ถูกนำมาสู่กระบวนการประเมินด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีความเป็นวิชาการมากเพียงพอ ตลอดจนประเภทและขนาดของโครงการที่จะต้องทำ EIA มี 22 ประเภทตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2539 ส่งผลให้หลายโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนไม่ต้องทำ EIA เพราะไม่เข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องทำ EIA เช่น กรณีการสร้างโรงแรมที่จะต้องทำ EIA จะต้องมีจำนวนห้อง 80 ห้องขึ้นไป เราก็มักจะพบว่ามีโรงแรมจำนวน 79 ห้องเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่ต้องทำ EIA รวมถึงนโยบายสาธารณะต่างๆ ก็ไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาทั้งมลภาวะทางกายภาพและมลภาวะทางสังคม

แนวคิดการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเทศไทยเริ่มมีการพูดคุยกันมากขึ้นจากการขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพในปี 2543 ในการนี้ HIA ได้ถูกพัฒนาขึ้นในฐานะเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์จากการดำเนินการต่างๆ ทั้งจากรัฐและเอกชน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระดับโครงการ แผนงาน นโยบาย และครอบคลุมถึงผลกระทบทางสุขภาพในทุกมิติและทุกระดับ ที่สำคัญ HIA ตามแนวคิดนี้ถูกออกแบบให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมแบบมีส่วนร่วมที่นำไปสู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ มากกว่าเป็นเครื่องมืออนุมัติหรืออนุญาตโครงการ

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประยุกต์ใช้ HIA ในกรณีต่างๆ อย่างกว้างขวางในหลายระดับ ทั้งโครงการในชุมชน เช่น กรณีการใช้สารเคมีทางการเกษตร และโครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น กรณีเขื่อนปากมูล กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กรณีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ เช่น สวนส้ม เป็นต้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายสาธารณะต่างๆ เช่น นโยบายเกษตรแบบพันธะสัญญา FTA ฯลฯ ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้ได้นำแนวคิดและกระบวนการ HIA ไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการพัฒนา HIA ในประเทศไทยจะดำเนินการในฐานะเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยมุ่งหวังการพัฒนาความเป็นสถาบันทางสังคมมากกว่าโครงสร้างอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย ซึ่งจุดอ่อนของแนวทางนี้คือ ไม่มีการบังคับใช้และไม่มีอำนาจในการตัดสินใจหรืออนุมัติโครงการที่ชัดเจนตามกฎหมายดั่งเช่น EIA

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การประเมินผลกระทบทางสุขภาพได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายสำคัญของประเทศไทยถึง 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ม.67) และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ (ม.10, ม.11 และ ม.25 (5)) นอกจากนี้ยังถูกเขียนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ตลอดจนคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สนับสนุนการพัฒนางาน HIA อย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาที่ควบคู่กันไปทั้ง 2 ด้านนี้จะเป็นฐานรากสำคัญในการพัฒนางาน HIA ที่นำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและการสร้างสังคมไทยให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป