HIA Forum ดึงภาคีเครือข่าย 3 พื้นที่ร่วมถอดบทเรียนการความสำเร็จ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

เปิดวง HIA Forum แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ดึงภาคีเครือข่าย 3 พื้นที่ร่วมถอดบทเรียนการใช้เครื่องมือ HIA ที่ได้ผลสำเร็จ ทั้งประเด็นโรงไฟฟ้าชีวมวลอีสาน-ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์-เหมืองหินตรัง ส่งผลให้สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อมของชุมชนได้รับการดูแลควบคู่โครงการพัฒนา
 

ถอดบทเรียน HIA


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ.2565 ภายใต้หัวข้อ HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค. 2565 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของภาคีเครือข่ายในระดับต่างๆ (Best Practice) จากภาคีเครือข่ายหลายพื้นที่ ที่มีการสะท้อนถึงการดำเนินงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากกิจกรรม โครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชน จนได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ผศ.ดร.วลัญช์ชยา เขตบำรุง นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานรวม 20 จังหวัด รวมทั้งภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคอีสาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) หลังจากเกิดข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ เพื่อขอใช้สิทธิในการคุ้มครองสุขภาพ และพัฒนานโยบายสารณะจากชุมชน เพื่อนำไปสู่การผลักดันเป็นข้อเสนอนโยบายระดับชาติ
 

วลัญช์ชยา เขตบำรุง


ทั้งนี้ ข้อค้นพบของภาคประชาชนและภาควิชาการ ที่ร่วมกันประเมินกิจกรรมดังกล่าวที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พบว่าการอนุมัติ อนุญาตให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลรายงาน HIA อีกทั้งยังพบว่าไม่มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่คณะกรรมการติดตามและเฝ้าระวังตรวจสอบผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยังมีสัดส่วนที่น้อย อาจส่งผลให้ไม่เกิดการติดตามผลกระทบของกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.วลัญช์ชยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่ภาคประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันตกผลึก มีประเด็นสำคัญคือ ขอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) และการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน อีกทั้งยังขอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิในการนำเสนอรายงาน HIA และการประเมินผลกระทบสุขภาพในระดับชุมชน (CHIA) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) นำรายงานนั้นมาประกอบการพิจารณา

“ผลของความเห็นจากภาคชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ประชุมเมื่อปี 2563 และมีมติให้ประสานหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย ให้เกิดการติดตามและประเมินผลข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยไม่ต้องรอกระบวนการสมัชชาเฉพาะประเด็น เนื่องจากกิจกรรมและโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก” ผศ.ดร.วลัญช์ชยา กล่าว

ดร.ศิริพร เพ็งจันทร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลดำเนินการเปิดพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต เป็นเวลา 120 วันในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของภาคธุรกิจในพื้นที่ ที่เห็นว่าหากปล่อยให้ จ.ภูเก็ต มีความซบเซาไปมากกว่านี้ จะกระทบห่วงโซ่เศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก

ศิริพร เพ็งจันทร์


อย่างไรก็ตาม หลังกิจกรรมในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ได้มีการประเมิน HIA และผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้น ทั้งประเด็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และด้านอื่นๆ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การประเมินในแง่บวกพบว่า มีรายได้จากการท่องเที่ยวในโครงการนี้สูงถึง 4,260 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้ 435 ล้านบาท แต่ทั้งนี้การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสุง อาจะส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในพื้นที่ได้รับอานิสงส์อยู่ฝ่ายเดียว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ได้ประโยชน์ เพราะมีประชาชนเพียง 27% ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

“จึงทำให้เกิดวลีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กในภูเก็ต มองว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า เนื่องจากคนในระดับชุมชน รวมถึงธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้ประโยชน์จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อย่างทั่วถึง จึงเหมือนกับว่าโครงการนี้ได้ทิ้งคนไว้ข้างหลัง” ดร.ศิริพร กล่าว

ศิริพร เพ็งจันทร์

ดร.ศิริพร กล่าวว่า นอกจากนี้ตามเงื่อนไขของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต้องจดทะเบียนผ่าน SHA+ ที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงปลอดภัยด้านสุขอนามัย จากสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว แต่ปัญหาคือโรงแรมจำนวนมากไม่อยู่ในระบบทะเบียน อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังทำหน้าที่เสมือนบุรุษไปรษณีย์ ที่ทำหน้าที่รับนโยบายจากส่วนกลางมาปฏิบัติ แต่ขาดการจัดการ การตัดสินใจในสถานการณ์ที่เหมาะสมของพื้นที่

ดร.ศิริพร กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนในพื้นที่จากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือควรดำเนินการให้ จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัย และที่สำคัญคือต้องกระจายรายได้ให้ถึงมือทุกคน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม หรือมีแนวทางสนับสนุนท้องถิ่น ธุรกิจชุมชนต่างๆ ให้เชื่อมร้อยมายังภาคการท่องเที่ยวที่เป็นภาพใหญ่ของ จ.ภูเก็ต

ด้าน นายปิยะ วันเพ็ญ จากมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย กล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน กรณีเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองหินบริเวณเทือกเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้เป็นการประเมิน CHIA ที่เหมืองหินบริเวณเทือกเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม อย่างมีส่วนร่วม โดยถูกวางเอาไว้ให้ครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1. ผลกระทบด้านสุขภาพ 2. ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม 3. ผลกระทบของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 4. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังมีความขัดแย้งของชุมชนเกิดขึ้นด้วย เพราะมีทั้งกลุ่มเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับอุตสาหกรรมเหมืองหิน

ปิยะ วันเพ็ญ

ทั้งนี้ หลังการประเมินทำให้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ควรปกป้องและอนุรักษ์ อาทิ พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 26 ชนิด และยังมีบางสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ นอกจากนี้ยังมีการค้นพบพันธุ์พืชอีก 229 ชนิด และมีพืชพันธุ์ที่พบครั้งแรกในโลกอีก 4 ชนิด ซึ่งขณะนี้มีการยืนยันอย่างทางการแล้ว 2 ชนิดอีกด้วย รวมไปถึงการค้นพบแหล่งโบราณคดีถึง 35 แห่งในระยะเวลา 4 เดือนที่ได้ทำการสำรวจ และที่สำคัญแหล่งโบราณคดีอยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งหินเพื่อการอุตสาหกรรมด้วย โดยหลักฐานดังกล่าวทำให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับด้วยกัน

“เราพบอะไรต่างๆ ในชุมชนมากมายที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนได้ ซึ่งท้องถิ่นมีความเข้มแข็งอย่างมากต่อการผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ อีกทั้งภาคเอกชนก็ต้องยอมรับข้อมูลเรื่องของชุมชนด้วย จึงนำไปสู่การถอนขออนุญาตสัมปทานเหมืองหินในพื้นที่ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าชุมชนมีความสำคัญ ซึ่งท้ายสุดทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ และแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้ด้วย” นายปิยะ กล่าว

นายปิยะ กล่าวอีกว่า กระนั้นการดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ภาคีเครือข่ายได้เห็นตรงกันว่า นอกเหนือไปจากการอนุรักษ์ทรัพยากรและมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ควรเสริมการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน โดยให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมเป็นเป้าหมายที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
 

ถอดบทเรียน HIA

 

ถอดบทเรียน HIA

 

ถอดบทเรียน HIA

 

ถอดบทเรียน HIA

 

 

รูปภาพ
บทเรียน HIA