คสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ HIA ฉบับที่ 3 เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน ‘โครงการพัฒนา’ ของรัฐ บนการยอมรับของ ‘ประชาชน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
คสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ HIA


บอร์ดสุขภาพของประเทศ ไฟเขียว (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 “อนุทิน” ระบุ เป็นเครื่องมือวิชาการที่ช่วยให้การพัฒนาเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด เพราะจะสร้างทางเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับ ด้าน “นพ.ประทีป” ขอแรงสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผลิตกำลังคนและวิชาการช่วยประเมิน HIA ในพื้นที่

การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ (HIA) ฉบับที่ 3 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางวิชาการสำหรับคลี่คลายความขัดแย้งและลดปัญหาการเผชิญหน้า ที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนก่อนลงมือทำ

อนุทิน ชาญวีรกูล


นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ หรือ HIA เป็นเครื่องมือสำคัญภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่จะช่วยสร้างความสมดุลระหว่าง 2 ความต้องการ นั่นคือความต้องการการพัฒนาและความต้องการปกปักรักษาฐานทรัพยากรด้วยสิทธิชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พื้นที่ใดที่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เข้าไปก็มักจะเกิดความเห็นต่างและอาจพัฒนาเป็นความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากันในพื้นที่ ทำให้หลายโครงการจะเดินหน้าก็ไม่สะดวก จะถอยหลังก็อาจเกิดความเสียหายได้ แต่ถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและมีเครื่องมือทางวิชาการมาประเมินผลกระทบและมีข้อเสนอการป้องกัน การเพิ่มทางเลือก หรือการชดเชยความเสียหายที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ก่อนลงมือทำ ก็ย่อมดีกว่าการเผชิญหน้า
 

อนุทิน ชาญวีรกูล


สำหรับ HIA ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยหาทางออกร่วมกัน โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิชาการเป็นตัวตั้ง และมุ่งหมายที่จะชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการ 2. ผู้ได้รับผลกระทบที่ส่วนใหญ่เป็นประชาชนในพื้นที่ 3. ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์หรือภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาพูดคุยกันบนฐานข้อมูลทางวิชาการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อสกัดออกมาเป็นข้อเสนอหรือแนวทางการพัฒนาหลายๆ ทาง ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนยอมรับร่วมกัน
 

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

ชูชัย ศุภวงศ์


นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่ คสช. แต่งตั้ง เปิดเผยว่า ในอดีตประเทศไทยเคยมีหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบ มาแล้ว 2 ฉบับ แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการบังคับใช้และการเป็นที่ยอมรับ คสช. ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 25 (5) พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงได้ถอดบทเรียนและปรับปรุงเนื้อหาใหม่ นำมาสู่การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบฯ หรือ HIA ฉบับที่ 3 ที่มีจุดแข็งคือเป็นไปในลักษณะคล้าย “คำสั่งทางปกครอง” ที่เน้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยบังคับใช้ร่วมกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ในอดีตมีผู้ที่เข้าใจผิดหรือมีทัศนคติที่คลาดเคลื่อนว่า HIA เป็นเครื่องมือที่จะชะลอการพัฒนา แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม จากประสบการณ์ของประเทศที่พัฒนาแล้วและของไทยต่างแสดงให้เห็นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้การพัฒนาเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่สะดุด เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก นับเป็นการพัฒนาบนแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน” นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าว

เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ HIA ฉบับที่ 3

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้ HIA ให้สัมฤทธิ์ผล ประการแรกคือเครื่องมือต้องมีความเป็นกลางและสอดคล้องกับความเป็นจริง ประการถัดมาคือต้องมีสถาบันวิชาการและกำลังคนสำหรับดำเนินการในระดับพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ สช. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายสถาบันวิชาการ (HIA Consortium)  โดยขยายการมีส่วนร่วมไปยังเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพื่อผลิตความรู้ทางวิชาการและพัฒนากำลังคนมาช่วยทำงานด้านนี้เป็นการเฉพาะแล้ว และได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ ม.เชียงใหม่, ม.นเรศวร, ม.มหิดล, ม.ขอนแก่น, ม.บูรพา, ม.สงขลาฯ ฯลฯ และหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จะมีการร่วมจัดเวทีวิชาการระดับชาติ (HIA Forum) ด้วย
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


“HIA จะเป็นเครื่องมือทางวิชาการสนับสนุนการดำเนินนโยบายหรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน หรือโครงการย่อยในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ลดการเผชิญหน้า เกิดเป็นความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คสช. กล่าว

วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังได้รับทราบ “มติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ” จำนวน 2 มติ ประกอบด้วย 1. การเสริมทักษะอาชีพใหม่หรืออาชีพทางเลือกและรายได้ของผู้สูงอายุในยุค COVID-19 ซึ่งมุ่งเน้นการออกแบบระบบในการพัฒนาทักษะของผู้สูงอายุ และสร้างงานที่มีคุณค่าในสถานการณ์ที่มีการพลิกโฉมทางเทคโนโลยี (Technological disruption) 2. การเข้าถึงบริการสุขภาพและสังคมอย่างบูรณาการและมีคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการบูรณาการบริการสังคมและสุขภาพในระดับนโยบายและบริหาร และระดับคลินิก

สำหรับมติสมัชชาผู้สูงอายุฯ ทั้ง 2 มติดังกล่าว เป็นมติที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของส่วนได้เสียหลายครั้ง และเป็นฉันทมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่ทุกภาคส่วนกว่า 400 ชีวิต ภายใต้ความร่วมมือในการจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่าง กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบแต่งตั้ง นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 ที่จะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2565-2566 โดยมีเลขาธิการ คสช. เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

รูปภาพ
คสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ HIA ฉบับที่ 3