สช.-ภาคีร่วมเปิดเวที ‘HIA Forum’ ครั้งที่ 7 ดันกลไก ‘ประเมินผลกระทบฯ’ ทั้ง 6 ภูมิภาค ฝ่าความท้าทายจากวิกฤตสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช. พร้อมภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดเวที “HIA Forum ครั้งที่ 7” ภายในงานสร้างสุขภาคใต้ มุ่งขยายความร่วมมือเครือข่ายสถาบันวิชาการทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ สู่การใช้กลไก “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” สร้างสมดุลยภาพของการพัฒนา เผชิญหน้าความท้าทายภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง รับมือแนวโน้มผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม-สุขภาพที่รุนแรงมากขึ้นของโลก

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ. 2566 หัวข้อ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน: โอกาส และความท้าทาย” ภายในงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 “ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
 

HIA 2566


นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกที่ใช้ในการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงานและโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางลบ ทางบวก และความเป็นธรรมจากการได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะดังกล่าว
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


สำหรับเวที HIA Forum เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ ที่หลากหลาย ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจ ยกย่องเชิดชูเกียรติผลงานที่เข้าร่วม ตลอดจนเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ ทั้งภาครัฐและเอกชน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สช. ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายในการจัดประชุม HIA Forum มาแล้วรวม 6 ครั้ง โดยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ได้วางเป้าหมายที่จะยกระดับการพัฒนาศักยภาพ และขยายความร่วมมือเครือข่ายทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้ง 6 ภูมิภาค เพื่อร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่สำคัญของประเทศ โดยใช้ HIA ร่วมกับกระบวนการและเครื่องมืออื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจาะจง มุ่งเป้า และสร้างการมีส่วนร่วมในการอภิบาลระบบนโยบายที่คำนึงถึงหลักการทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP)
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


“สังคมที่ดีและน่าอยู่ ย่อมต้องมีนโยบายสาธารณะที่ดีด้วย ซึ่งนโยบายสาธารณะที่ดีต้องมาจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างหลากหลายและกว้างขวาง ที่จะนำไปสู่การมีพันธกิจและเป้าหมายร่วมของผู้คนในสังคม เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิผลสูงสุด นั่นคือสุขภาวะของพี่น้องประชาชนและสังคมโดยรวม ซึ่ง HIA จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถไปสู่เป้าหมายนั้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


ขณะเดียวกันภายในงานยังได้มีการเสวนา “ความท้าทายในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความสำคัญกับพื้นที่ภาคใต้ ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงาม อุดมสมบูรณ์ หาได้ยากของโลก ทว่าโครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่กลับมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยง แต่ด้วยกระบวนการ HIA จากความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาควิชาการ และภาคประชาชน ก็ช่วยให้สามารถสร้างดุลยภาพของการพัฒนาในพื้นที่ได้พอสมควร
 

ชูชัย ศุภวงศ์


นพ.ชูชัย กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดจากการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกคำเตือนว่าขณะนี้สิ้นสุดยุคโลกร้อน แต่กำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือดนั้น เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของการพัฒนาที่ขาดดุลยภาพและไม่ยั่งยืน ทำให้ภาพรวมเทรนด์ของโลกขณะนี้ จึงกำลังเดินหน้าไปสู่ 3 ประเด็นสำคัญนั่นคือ 1. ธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม 2. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 3. การสร้างพลังการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนของสังคม ที่จะต้องร่วมกันรักษาดุลยภาพของการพัฒนาให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

“บทเรียนตัวอย่างจากหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ได้ทำให้เราเห็นว่าหากท้องถิ่นมีการผนึกร่วมกับพลเมืองและภาควิชาการอย่างแนบแน่น พร้อมขับเคลื่อนกระบวนการ HIA ที่มีความเข้มแข็ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่มีดุลยภาพได้ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระแสของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตลอดจนพลังของพลเมืองที่มีความตื่นตัวขึ้นมาก จะช่วยกันทำให้เราสามารถปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพของแผ่นดินไทยได้อย่างยั่งยืน” นพ.ชูชัย กล่าว

ขณะที่ น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อํานวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า บทบาทของกรมอนามัยกับกระบวนการ HIA มีตั้งแต่การพัฒนาในระดับนโยบาย ไปสู่การสนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยมีรูปธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น สร้างความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ผลักดันกระบวนการ HIA เข้าสู่ระบบรับรองคุณภาพอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ EHA 8000 ตลอดจนพัฒนาต้นแบบ HIA ระดับท้องถิ่น และขยายผลสู่การขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เป็นต้น
 

นัยนา ใช้เทียมวงศ์


“ด้วยสถานการณ์วิกฤตจากความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่เราต้องเร่งลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยที่เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น โดยใช้กระบวนการ HIA เป็นหัวใจของการพัฒนา สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ HIA ในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ พร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในสังคม” น.ส.นัยนา กล่าว
 

พจนารถ แก้วเพชร


ด้าน นางพจนารถ แก้วเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริการสาธารณะท้องถิ่นและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ สถ. กล่าวว่า มิติทางสุขภาพนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดนโยบายหรือขับเคลื่อนงานใด ก็ต้องดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นทาง สถ. จึงได้นำ HIA รวมเข้าไปอยู่ในตัวชี้วัดหนึ่งของระบบการรับรอง EHA 8000 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี เมืองอยู่ดี มีสุข และเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดการนำเครื่องมือ HIA ไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
 

HIA

 

HIA 2566

 

รูปภาพ
้HIA Forum