ฝันไทยก้าวเป็นฮับเกษตร-อาหาร ต้องหนุนรัฐจับมือภาคประชาชนร่วมเตือนภัยระบบอาหารเทียบเท่ามาตรฐานอียู รับวัน Food Safety โลก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1

 

วันที่ 7 มิถุนายน 67 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สช.) ร่วมจัดเวทีขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยทางอาหารของประเทศ “สัญญาณแห่งความหวัง” ทศวรรษการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางอาหารในประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันอาหารปลอดภัยโลก (World Food Safety Day) เวที “สัญญาณแห่งความหวัง” ณ ห้องสานใจ 1/1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยมีนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพธราดล ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานโดยกล่าวว่า ความปลอดภัยทางอาหารและการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขณะนี้มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวกับเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนกันต่อ เนื่องจากความปลอดภัยทางอาหารมีภาคีที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน

 

2

 

คุณปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)  กล่าวว่า ในประเทศไทยมีการแบนการใช้พาราควอต คลอไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกรโฟเซต เนื่องจากพบว่าเป็นสารก่อโรคพาร์กินสัน มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ก่อมะเร็งระดับ 2A  ผลจากการแบนการใช้ 3 สาร ในปี 2563 พบปริมาณนำเข้าลดลงอย่างชัดเจนจากปี 2560 จากที่เคยนำเข้า 128 ล้านกิโลกรัม ลดเหลือ 113 ล้านกิโลกรัมในปี 2565 หรือ หายไป 42% ส่วนข้อมูลการเจ็บป่วยจากสารเคมีเหล่านี้ก็ลดลงจาก 22.75 ต่อแสนประชากรในปี 2560  เหลือ 8.72 ต่อแสนประชากรในปี 2566 หรือลดลง 2.6 เท่า ขณะที่รายงานการเฝ้าระวังการตกค้างของสารพาราควอต โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2562 พบ 26.6% ของกลุ่มตัวอย่าง แต่หลังแบนการใช้แล้วก็ไม่พบการตกค้างอีกเลยใน 2564-2565 ส่วนผลประเมินผลตอบแทนทางสังคมไทย โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ใน 10 ปีจะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข หรือโรคที่เกิดจากสารเหล่านี้ แบ่งเป็นควอไพรีฟอส 4.1 หมื่นล้านบาท พาราควอต 4.750 ล้านบาท ไกลโฟเซต 1.89 พันล้านบาท โดยไกลโฟเซตมีแนวโน้มที่ลดลงเพราะประเทศไทยยังมีการจำกัดการใช้อยู่ แต่หากยกเลิกการใช้ก็จะทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น

 

ส่วนการเฝ้าระวังสารกำจัดแมลงศัตรูพืช 4 กลุ่ม คือ คาร์บาเบท ออร์แกโนฟอสเฟต ออร์แกโนคลอรีน และไพรีทรอยด์ ในผัก ผลไม้ส่งออก ในระยะ 10 ปี (2555-2565) พบว่า การตกค้างก็ลดลงจากที่เกินค่ามาตรฐาน 50% ก็เหลือ 20% ซึ่งในช่วงปี 2555 Thai-PAN ได้มีการติดตามสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้ส่งออกจากรายงาน Rapid Alert System for Food and Feed ของสหภาพยุโรป พบว่า มีผลไม้ส่งออกที่มีสารเคมีตกค้าง จึงเป็นที่มาของการจัดทำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ 5.5 เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในผลไม้ส่งออก โดยเครือข่าย Thai-PAN ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันไม่ให้ต่อทะเบียนและยกเลิกทะเบียนสารทั้ง 4 ตัว หารือกับห้างค้าส่งค้าปลีกว่าให้วางขายผัก ผลไม้ที่มีสารดังกล่าว ซึ่งพอไปตรวจสอบก็พบผัก ผลไม้มีสารตกค้างลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีเลย  ตลอดจนการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพห้องแล็ปให้สามารถตรวจหาสารเคมีหลายชนิดมากขึ้น เช่นปัจจุบันตรวจได้ 132 ชนิด บวกกับพาราควอต และไกลโฟเซต มีการส่งตรวจที่ห้องแลปของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจได้ 250 -500 ชนิด และมีห้องแลปเอกชนบางแห่งขอรายการที่ Thai-PAN ส่งตรวจที่อังกฤษไปพัฒนาการตรวจของตัวเอง จนสามารถได้ 420 ชนิด

 

“ถือเป็นการตื่นตัว และพยายามยกระดับมาตรฐานของไทย จนพบสารตกค้างในผัก ผลไม้ลดลง เช่นที่ห้างฯ จากที่พบ ตกมาตรฐาน 60% ในปี 2559 พอปี 2565 ขยับไปตรวจ 567 สาร พบตกค้างลดลง อยู่ที่ 51% ถือเป็นสัญญาณที่ดี ภายใต้ขอบเขตของกระชอนที่ถี่ขึ้นและตัวเลขดีขึ้น เป็นสัญญาณว่า เราเดินมาถูกทาง มีการจัดการที่ต้นทางจนสร้างผลกระทบอย่างมากกับประเทศ” นางสาวปรกชล จากไทยแพน กล่าว

 

 

3

 

รศ.ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานจะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน สังคมขับเคลื่อนด้วยความรู้ ความจริง ต้องสื่อสารให้รู้ว่าเราเดือดร้อน เจ็บป่วย เสียชีวิต เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมากแค่ไหน และต้องรู้ว่า เมื่อเรากินอาหารปลอดสารพิษแล้วสุขภาพดีขึ้นจริง แม้เป็นตัวอย่างเล็กๆ การแบนสารเคมีบางตัวของเราสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงระดับโลก เราทำอะไรทั่วโลกรับรู้ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก เราภูมิใจว่าเกิดมาแล้วชีวิตหนึ่งทำดีเพื่อส่วนรวม

 

4

 

ภญ.สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ทาง อย.จะมีระบบการตรวจสอบคุณภาพอาหารต่างๆ ตั้งแต่ก่อนวางจำหน่ายและหลังวางจำหน่าย อย่างผัก ผลไม้จะมีการตรวจสอบตั้งแต่โรงคัดบรรจุ และตลาด ซึ่งที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างราวๆ 1 พันตัวอย่าง พบสินค้าตกมาตรฐานประมาณ 20% ซึ่งต้องยอมรับว่า ตัวเลขแตกต่างจากที่ไทยแพนตรวจพบ เป็นเพราะข้อจำกัดหลายอย่าง 1. แล็ปตรวจภายในประเทศตรวจหาสารเคมีได้จำกัด 2. ใช้เวลาตรวจสอบนาน 3. ค่าตรวจแพง  ซึ่งการจะพัฒนาระบบต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เท่าที่ด่านอาหารคำนวณสำหรับตรวจผัก ผลไม้นำเข้า อยู่ที่ประมาณ 40 กว่าล้านบาท ส่วนการตรวจผลัก ผลไม้ในประเทศราวๆ 37 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทุกวันนี้ เราใช้งบฯ ราว 40 ล้านบาทในการเก็บตัวอย่างทุกๆ อย่าง จึงจำเป็นสุ่มตรวจ โดยเน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง “แลปในประเทศอาจจะตรวจสารเคมีได้ประมาณ 100 ชนิด ส่วนแลปที่ไทยแพนส่งตรวจอาจจะตรวจได้ 500 กว่าชนิด ทำให้ตัวอย่างที่อย.เก็บตรวจเจอสารตกค้างน้อยกว่าที่ไทยแพนเจอ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเราเองตรวจหาสารตัวนั้นไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสารตัวนั้นตกค้างอยู่”

 

“เรามีระบบสื่อสารเตือนภัยอาหาร THRASFF ตั้งแต่ปี 2554 ศูนย์รวมไปยังภาครัฐกระทรวงเกษตร อุตสาหกรรม เอกชน และมีระบบตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO 17025 ต้องปรับปรุง ด้านการอินพุทข้อมูลและเตือนภัย และคณะทำงานเห็นมีควรมีการเปิดข้อมูลสู่สาธารณะด้วย” ดร.พัทธนันท์ เกษมวีรศานต์ จาก มกอช.กล่าว

 

 

5

 

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง จากสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายคือตัวแทนที่จะพูดแทนผู้บริโภค ว่า ปัจจุบันด้วยภาคประชาชนมีร่วมอยู่ 2 อย่าง คือร่วมตกใจ กับร่วมเสี่ยงภัย ดังนั้น จึงอยากให้เปิดช่องให้ภาคประชาชนเข้าร่วมกับระบบเฝ้าระวังเชิงรุก เตือนภัยเร่งด่วน ซึ่งประชาชนจะมีความเข้าใจในพื้นที่ ช่วยรัฐในการจับตา

 “ผมมองว่า ระบบเฝ้าระวังเชิงรุกนั้น ถ้าหน่วยงานภาครัฐบังแบกไว้ฝ่ายเดียว งบประมาณก็เยอะ คนก็ไม่พอ และซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นมาแชร์กันได้ไหม ทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ธรรมดา บางคนนักวิชาการ บางคนเป็นหมอ ประชาชนมีความรู้” 

 

6

 

ดร.ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา อดีตที่ปรึกษาสถาบันอาหาร กล่าวว่า จากที่ฟังหน่วยงานต่างๆ พูดถึงการดูแลเรื่องอาหารปลอดภัยเหมือนจะมีความชัดเจน แต่ไม่มีความชัดเจน ทำให้โครงสร้างความปลดภัยด้านอาหารไม่คอมพลีท ตนไม่เชื่อว่ากลไกของรัฐจะตรวจสอบได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ต้องทำมีผู้เล่น 3 ส่วน 1. รัฐ ต้องเป็นผู้นำดำเนินการ 2. ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ เกษตรกร ร่วมทำเรื่องมาตรฐานระบบ มาตรฐานผลิตภัณฑ์คู่ขนานกันไป และตัวที่ 3. เป็นสัญญาณทางบอกและเป็นความหวัง คือการมีสภาองค์กรผู้บริโภค แม้ได้เงิน 300 กว่าล้านเมื่อก่อตั้งแต่ไม่เพียงพอ แต่หากรัฐบาลเห็นความสำคัญแล้วรับเรื่องนี้ให้เครือข่ายภาคประชาชนทำไมจะทำไม่ได้ ทำเหมือนทำพาสปอร์ตที่ให้เอกชนมาทำ แล้ว มกอช.ไปตรวจสอบติดตามแลปให้ ทำงานประสานอย่างนี้เหมือนกับสหภาพยุโรปที่ทำแบบนี้ สำหรับระบบ Rapid Alert System เป็นเรื่องดี แต่หากไม่สแกนก็จะทำให้ผู้บริโภคตกใจ แล้วเสี่ยงทำให้ล้มทั้งระบบ

 

“นายกฯ พูดชัดว่าชูไทยเป็นฮับด้านเกษตร อาหาร ประสบการณ์ ของผม 30 ปี ทีทำงานด้านนี้ รู้สึกว่า ไม่อยากให้พูดอย่างเดียว กลไกสำคัญคือภาคการเมืองว่าจะเอาจริงแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเอาจริงเรื่องนี้ ที่แข็งแรงที่สุดือภาคประชาชน เครือข่าย ไม่เคยเห็นภาคการเมืองชูเรื่องอาหารปลอดภัยมาป็นอันดับหนึ่งเลย ผมขอท้าทายรัฐบาลทุกยุค ถ้าท่านเห็นความสำคัญของประชาชนอย่าดีแต่พูด ท่านต้องทำด้วย”

 

 

7

 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม กล่าวว่า  สิ่งที่จะทำให้สำเร็จ 1. ต้องเผยแพร่ความจริงให้ประชาชนได้ตระหนัก 2. คนทำงานต้องอดทนต่อแรงเสียทาน สู้กับกลุ่มผลประโยชน์ ต้องแก้กฎหมายให้เกิดการร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งตนได้รับรายงานจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข โดยอย. ที่ตรวจพบผัก ผลไม้นำเข้าจากจีนมีการปนเปื้อนสารเคมี แต่ผ่านมาหลายปีการทำงานในการตรวจสอบป้องกันซึ่งมีหลายหน่วยงานยังไม่มีความเป็นเอกภาพ บูรณาการร่วมกัน ทั้งนี้ตนคิดว่า การทำระบบอาหารปลอดภัยรัฐจำเป็นต้องเป็นผู้นำ และดึงภาคประชาชนมามีส่วนร่วม แต่ทราบว่าติดข้อกฎหมายของอย. เรื่องนี้ต้องคุยกันต่อ รวมถึงแนวคิดทำ ร่างพ.ร.บ.อาหารปลอดภัย โดยภาคการเมืองต้องเอาจริง

รูปภาพ