- 14 views
กรณีที่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัทพาวเวอร์ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 47.7 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เปิดดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2542 ยื่นเอกสาร ถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น เหง้ามันและแกลบ เป็นถ่านหิน 100% ซึ่งการขอเปลี่ยนแปลงนี้ ทางบริษัทจะต้องยื่นขออนุญาตและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฉบับใหม่เพื่อยื่นกับ สผ. และ สผ.จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาอีไอเอ (คชก.) คาดว่าจะประชุมพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 1 มีนาคม นี้ หลังจากเลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง
ในวันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2555) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเสวนา เรื่อง “จะตัดสินใจอย่างไร หากโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเปลี่ยนเป็นถ่านหิน” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีวิทยากรจากทั้งภาควิชาการ นักวิจัย ตัวแทนชุมชนเข้าร่วม
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยด้านพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) กล่าวว่า การที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหินนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะเดิมที่เป็นเชื้อเพลิงจากชีวมวลก็มีผลกระทบเกิดขึ้นแล้วคือ ฝุ่นจากแกลบแต่เมื่อเปลี่ยนเป็นถ่านหินซึ่งจะมีมลพิษชนิดอื่นตามมาด้วย นั่นคือ ปรอทและโลหะหนักซึ่งไม่พบในแกลบ
“งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดที่ทำให้กับสมาคมปอด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี 2554 พบว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 0.625-2.5 ไมครอน ทำให้ระบบหายใจกรองเอาไว้ไม่ได้ โดยฝุ่นพวกนี้จะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง และมีสารปรอทและโลหะหนักเกาะไปกับฝุ่นพวกนี้ด้วย ปัญหาคือประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นที่ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังน่ากังวลในเรื่องผลกระทบทางน้ำ เพราะฝุ่นขนาดเล็กมากและโลหะที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าอาจจะไปปนเปื้อนในน้ำ และดิน ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและต้นไม้ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร” นายศุภกิจ กล่าว
นายศุภกิจ กล่าวต่อว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาติ รวมถึงหน่วยงานที่สนับสนุนดูแลนโยบายพลังงานควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน พิจารณาประเด็นสำคัญคือเหตุผลในการขอเปลี่ยนเชื้อเพลิง ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ศักยภาพของพื้นที่ ก่อนตัดสินใจอนุมัติการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหิน เพราะนโยบายพลังงานชีวมวลมีเพื่อทดแทนพลังงานถ่านหินที่ก่อมลพิษสูง นอกจากนี้ สผ.และโรงไฟฟ้าฯ ควรเปิดเผยข้อมูลของโครงการดังกล่าวและขั้นตอนการดำเนินการในปัจจุบันให้ชุมชนและสาธารณะทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันตัดสินใจที่ดีเหมาะสมกับทุกฝ่าย อีกทั้งเป็นสิทธิของชุมชนที่จะมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลกิจกรรมหรือโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง
ดร.ชัชวาลย์ จันทรวิจิตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยณเรศวร กล่าวว่า ในต่างประเทศจะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยกลับรับที่จะพิจารณาที่โรงไฟฟ้าชีวมวลขอเปลี่ยนมาใช้ถ่านหิน และหากจะเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหินจะต้องเพิ่มเทคโนโลยีดักจับมลพิษจากถ่านหิน และในรายงานอีไอเอจะต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเช่น ฝุ่นถ่านหิน มลพิษถ่านหินที่จะปนเปื้อนออกมา การเพิ่มภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่ต่างประเทศบังคับให้ศึกษา ซึ่งช่วยกำกับเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่จะใช้จะได้เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาและเก็บข้อมูล พบว่ากรณีนี้ มีเรื่องน่าติดตาม 3 ประเด็น คือ 1.การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยสูงเกินความเป็นจริงอยู่ถึง 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โรง เชื่อมโยงกับกรณีการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงจากชีวมวลมาเป็นถ่านหิน ซึ่งให้พลังงานมากกว่า เพราะโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัทพาวเวอร์ซัพพลาย จำกัด นี้มีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) กฟภ.ต้องการไฟฟ้าเก็บไว้ให้เท่ากับตัวเลขที่ได้พยากรณ์ไว้
น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการศึกษาผลกระทบทางอากาศมักจะศึกษาในรัศมี 5 กม. รอบโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมีปัจจัยหลายชนิดที่ทำให้เกิดผลกระทบไกลกว่า 5 กม. เช่นทิศทางลมและสภาพของพื้นที่ จากการศึกษาเรื่องถ่านหินในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สารที่เกิดจากการเผาไหม้ นอกจากมีคาร์บอนไดออกไซด์ กับซัลเฟอร์ไดออกไซด์แล้ว ยังมีสารปรอทอีกด้วย กรีนพืซเคยศึกษา และทำรายงานการเผาไหม้ของถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย พบว่า ถ่านหิน 100 เมกกะวัตต์ จะทำให้เกิดสารปรอทประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งถ่านหินที่จะเป็นเชื้อเพลิงใหม่ในโรงไฟฟ้าที่ จ.ฉะเชิงเทรา น่าจะทำให้เกิดสารปรอทประมาณ 5-6 กิโลกรัมตามสัดส่วน
“เราพบว่า หากเผาถ่านหิน 4 ตันจะเกิดขี้เถ้า 1 ตัน และหากมีลมพัด ที่ความเร็ว 5.5-7.9 เมตร ต่อวินาที จะทำให้เถ้าของถ่านหินนั้นฟุ้งกระจายไปได้ไกลครอบคลุมพื้นที่ถึง 150,000 ตารางกิโลเมตรทีเดียว ที่สำคัญคือ จ.ฉะเชิงเทรา เป็น จังหวัดที่มีลมเข้ามาถึง 3 ทิศ ดังนั้นการพิจารณาอีไอเอฉบับนี้ต้องพิจารณาข้อมูลตัวนี้ประกอบด้วย” นส.จริยา กล่าว
นส.จริยา กล่าวว่า เวลานี้ทั่วโลกต่างกำลังตื่นตัวกับเรื่องการการลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเองก็ยอมรับในหลักการของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือไอพีซีซี (IPCC) ว่าด้วยเรื่องการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แต่ในทางปฏิบัติกลับเกิดกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชีวมวลกลับไปใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อให้เกิดผลร้ายทางการเปลี่ยนแปลงอากาศและภูมิอากาศมากมาย
นส.กอบมณี เลิศพิชิตกุล นักวิจัยชุมชน ต. เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังจากชาวบ้านในพื้นที่ทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทุกคนค่อนข้างจะเป็นกังวลว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงพยายามขอข้อมูลจากบริษัท และจากสผ.ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีอะไรและผลกระทบเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้รับข้อมูลจากทั้ง 2 หน่วยงาน ชาวบ้านในพื้นที่จึงรวมตัวกันตั้งคณะนักวิจัยชุมชนขึ้นเพื่อศึกษาและสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียงว่าหากโรงไฟฟ้าโรงนี้เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหิน ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งได้ข้อสรุปสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.หวั่นฝุ่นละอองที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าอาจจะปนเปื้อนลงแหล่งน้ำสาธารณะ 2.กระทบนาข้าวอินทรีย์และสวนมะม่วงที่ส่งขายต่างประเทศ 3. มลพิษจากถ่านหิน เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โลหะหนัก และปรอทอาจกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“บริเวณที่ตั้งของโครงการนี้เป็นพื้นที่ของลุ่มน้ำคลองท่าลาด ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งชาวบ้านใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน และน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งหลายร้อยครอบครัว หาปลาอยู่ในพื้นที่นี้ หากมีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือเถ้าถ่านที่มาจากถ่านหินในแหล่งน้ำ จนปลาและสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ น้ำกินน้ำใช้ไม่ได้ ชาวบ้านจะทำอย่างไร ที่สำคัญคือ บริเวณนี้เป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกมะม่วงของประเทศไทยรู้จักกันในนามมะม่วงแปดริ้ว มีประมาณ 8 หมื่นไร่ เป็นแหล่งมะม่วงที่สำคัญที่สุดในประเทศ ชาวบ้านส่งมะม่วงขาย โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้เบอร์สี่ ฟ้าลั่น รวมถึงพันธุ์อื่นๆ สร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่าปีละ 600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ประมาณ 2,000 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ส่งไปยังสหภาพยุโรปปีละ 50 ตัน หากมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอาชีพเหล่านี้จะอยู่ไม่ได้เลย” นส.กอบมณี กล่าว
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140