- 1036 views
สช.ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ควบคุม โฆษณายา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเสนอเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ อย.เร่งแก้กฎหมายเพิ่มโทษปรับและจำคุก ขณะที่ กสทช.นำร่องเอาผิดทีวีดาวเทียมแล้ว ด้านตำรวจขู่จับกุมผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายอย่างจริงจัง พบคดีพุ่งปีละ ๕๐๐ ราย
เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น สานพลัง คุ้มครองผู้บริโภคโฆษณายา อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมด้วย ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพ
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.ได้ขับเคลื่อนแนวทางการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและหลอกลวงผู้บริโภค ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางโฆษณาผ่านสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายที่แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคให้รู้เท่าทันการโฆษณา และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ก่อนนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติต่อไป
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า อย.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย ๓ ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและยา ได้แก่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ , พ.ร.บ.ยา พ.ศ.๒๕๑๐ และ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๓๕ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ โดยเฉพาะการเพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริงและไม่ได้รับอนุญาตจากอย.จาก ๕,๐๐๐ บาท เป็น ๕ แสนบาท ไปจนถึงโทษจำคุก และปรับรายวันเพื่อสะท้อนให้ผู้ประกอบการเห็นความจริงจัง ในการบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนั้น ยังกำหนดแนวทางจัดการปัญหาโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายซ้ำซาก เชื่อมโยงกับการพักใบอนุญาตผลิต การเพิกถอนทะเบียนตำรับและเลขสาระบบ ส่วนสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุคลื่นใด ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หากอย.ตรวจพบ ก็จะประสานกับ กสทช.ให้ดำเนินการกับเจ้าของสื่อ และอย.จะดำเนินการกับเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย ที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทั้ง ฟรีทีวี และหนังสือพิมพ์ ในการกำกับดูแลกันเองตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ส่วนกรณีการขายผลิตภัณฑ์ทางอินเตอร์เน็ตยังเป็นปัญหา ผู้กระทำผิดอาจนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศโดยไม่ขออนุญาตจากทางอย. ไม่มีที่อยู่เจ้าของเวปไซต์ หรือบางครั้งเปิดเวปไซต์จากต่างประเทศ ทำให้การฟ้องร้องยาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงไอซีที
ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า อย.ยังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ขออนุญาต ครอบคลุมทั้ง ยา อาหาร เครื่องสำอาง ข้อมูลโฆษณาที่ขออนุญาต มาตรการเฝ้าระวัง การร้องเรียน และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งตัวอย่างโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้กับสังคม สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์โฆษณาที่ดีต่อไป นอกจากนั้น อย.ยังทำ Application ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดข้อมูลและร้องเรียนได้ในชื่อ “SMART อย.” พร้อมเปิดสายด่วน ๑๕๕๖
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า คณะกรรมการกสทช.เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา โฆษณา ยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ อย.ที่ประสานงานมาเพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือวิทยุชุมชนทั่วประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตกับกสทช.ไว้ ซึ่งที่ผ่านมากสทช.ได้เปิดสายด่วนให้ประชาชนที่ติดตามสื่อร้องเรียนได้ที่หมายเลข ๑๒๐๐
ล่าสุดคณะกรรมการกสทช.มีคำสั่งให้ระงับการโฆษณา พร้อมส่งหนังสือไปถึง บริษัท โนวัน จำกัด เจ้าของรายการ พอใจชาแนล ออกอากาศทางกล่องรับสัญญาณ GMMz เนื่องจากพบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์ เจนนิ ฟูดส์ ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งกรณีนี้ทาง อย.เคยดำเนินการตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ ไปแล้ว ถือเป็นความผิดซ้ำซาก หากไม่ดำเนินการแก้ไข กสทช.ก็มีอำนาจในการปรับและเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป นอกจากนั้น ที่ผ่านมา กสทช. เคยทำหนังสือเตือนรายการที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องการโฆษณาหลายช่อง และขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) ไว้อยู่แล้ว หากพบกระทำผิดซ้ำก็จะดำเนินการเป็นขั้นตอนต่อไป
ปัจจุบันกสทช.เฝ้าระวังการโฆษณาและออกอากาศในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าสามารถดูแลได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะระบบทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนขอรับใบอนุญาตกับกสทช.แล้ว ๙๘% ยกเว้นวิทยุชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ สถานี ยังสามารถขึ้นทะเบียนได้เพียง ๒๐% เท่านั้น ทำให้การตรวจสอบติดตามให้ทั่วถึงเป็นเรื่องยาก เมื่อมีการสั่งปิดวิทยุชุมชนก็ลักลอบเปิดใหม่ได้ง่าย จึงต้องผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลการโฆษณาที่ผิดปกติด้วย
ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการหลงเชื่อสื่อโฆษณา โดยนำผลิตภัณฑ์ไปลองใช้และเลิกยาชนิดอื่นที่เคยใช้อยู่เดิม ถือเป็นตัวอย่างของผู้ถูกกระทำจากโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภค ขณะนี้กพย.รณรงค์ให้มีการรวมกลุ่มกันในระดับพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผิดกฎหมาย หรือไม่ขออนุญาต จัดทำคู่มือ ทุกข์ล้นเหลือ เหยื่อโฆษณา ซึ่งจะกระตุ้นให้สื่อมวลชนร่วมมือกันกำกับดูแลจริยธรรมในเรื่องนี้ และขณะนี้มีคณะนิเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ๑๒ แห่งที่จะบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรด้วย
กพย.ยังได้จัดทำโครงการนำร่องจังหวัดต้นแบบให้ประชาชนรู้เท่าทันโฆษณาใน ๔ จังหวัด ได้แก่ พะเยา สงขลา ขอนแก่น สระบุรี และในปี ๒๕๕๖ ขยายอีก ๑๐ จังหวัด เป็น ๑๔ จังหวัดทั่วประเทศ โดยแนวทางการจัดการจะแตกต่างกัน ตามลักษณะของปัญหาและมีการใช้กลยุทธ์หลากหลาย อาทิ จังหวัดสระบุรี ขับเคลื่อนโดยประสานความร่วมมือกับกสทช. จังหวัดขอนแก่น รวมกลุ่มเหยื่อจากการโฆษณา เดินสายถ่ายทอดประสบการณ์กับผู้บริโภค จังหวัดพะเยา ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเน้นแก้ปัญหาโฆษณายาเป็นหลัก และจังหวัดสงขลา เน้นแก้ปัญหาการขายตรง และรวมกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภค โดยกพย.จะถอดบทเรียนและนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รองผู้บังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการที่กระทำความผิด มีช่องทางหลอกลวงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์ในขณะนี้มีผู้กระทำผิดปีละ ๔๐๐-๕๐๐ ราย แต่การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้มงวดขึ้นเช่นเดียวกัน ภายใต้การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน และพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ บก.ปคบ. กำหนดมาตรการสำคัญในการตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณา ๒ ด้าน คือ ๑. มาตรการป้องกัน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นพับ เวปไซต์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนและผู้บริโภคตระหนักถึงพิษภัยของการโฆษณาอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นการปิดช่องทางของผู้จงใจกระทำความผิดให้น้อยลง และยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสื่อที่มีคุณภาพให้เป็นหูเป็นตาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ๒. มาตรการปราบปราม ถือเป็นมาตรการในเชิงรุก โดยมีศูนย์ปฏิบัติการบก.ปคบ. เฝ้าระวังรายการหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ ทั้งทางเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อินเตอร์เน็ต และวิทยุ รวมทั้งการออกหาข่าวในพื้นที่ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และจับกุมผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ พร้อมเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ที่สายด่วน ๑๑๓๕ และตู้ ปณ. ๔๕๙ รวมถึงประสานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น ซึ่งทำให้กลไกการดูแลผู้บริโภคเข้มแข็งขึ้น
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140