สุขภาพคนไทยทรุดเสี่ยงอาหารปนเปื้อน แนะรีดภาษีสกัดสารเคมีอันตราย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คจ. สช.เปิดเวทีถกอนาคตความปลอดภัยทางอาหาร หวั่นบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นอันตราย หลังพบปริมาณนำเข้าสารเคมีเพื่อการเกษตรพุ่ง 2.2 หมื่นล้าน ขณะที่การเปิดประชาคมอาเซียน ยังเป็นช่องทางให้สินค้าปนเปื้อนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มขึ้น แนะเพิ่มศักยภาพหน่วยตรวจสอบคุณภาพ พร้อมยกเครื่องมาตรฐานในประเทศ เลิกใช้สารเคมีร้ายแรง 4 ชนิด เก็บภาษีเยียวยาชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม
 
   เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2555 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ซึ่งมี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน จัดแถลงข่าว อนาคตความปลอดภัยทางอาหารของไทย ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ภายใต้แนวคิด ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
 
   นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” กล่าวว่า จะขอมติที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาการใช้สารเคมี โดยใช้แนวคิดผู้ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย (Polluter Pays Principle : PPP) เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพิ่มขึ้นทุกปี และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ทำให้ยอดการนำเข้าสารเคมีสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 22,000 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณ 87 ล้านกิโลกรัมหรือ 8.7 หมื่นตัน ดังนั้น จึงเกิดข้อเสนอเรื่องการเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตร เพื่อนำไปเยียวยาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
 
   ขณะเดียวกันยังมีการพิจารณาข้อเสนอเรื่องการยกเลิกการขึ้นทะเบียนและนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วและเพื่อนบ้านอาเซียนบางประเทศ เช่น ลาว พม่า ได้ประกาศห้ามผลิต ห้ามใช้ และไม่ให้ขึ้นทะเบียนบางรายการแล้ว เนื่องจากมีข้อพิสูจน์ชัดทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยืนยันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ 1. คารูโบฟูราน 2. เมโทมิล 3. ไดโครโตฟอส 4. อีพีเอ็น ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นด้วยที่จะยกเลิกแล้ว 2 รายการ ที่เหลืออยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลการศึกษาพบว่าผู้ได้รับสารเคมีกลุ่มนี้มากจะกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และการกลายพันธุ์
 
   นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ยังมีการหารือถึงข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการนำมาตรการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และการออกมาตรฐานสำหรับคนไทย ThaiGAP ที่มีความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากลมาใช้กับสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจาก ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการสุ่มตัวอย่างโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและมูลนิธิเครือข่ายผู้บริโภค จากผักในตลาด 80 ตัวอย่าง ทั้งในห้างค้าปลีกไทยและต่างประเทศ รวมถึงตลาดสดและรถเร่ พบว่า ผักผลไม้ดังกล่าว มีสารเคมีเกินมาตรฐานที่ยอมรับได้ถึง 40%
 
   ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรเกินปริมาณที่จำเป็น จะต้องแก้ไขในเรื่องของจรรยาบรรณตัวแทนจำหน่ายด้านการตลาดด้วย เพราะผู้ผลิตอาจมีเจตนาที่ดีในการกำกับดูแลการใช้ไม่ให้เกิดปัญหา แต่ด้วยความโลภของตัวแทนจำหน่ายที่ต้องการขายปริมาณมาก ทำให้ส่งเสริมการตลาดผิดทาง ดังนั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 จึงจะร่วมกันผลักดันเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
 
   ดร.ศิรินา กล่าวว่า ส่วนการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community :AEC) ในปี 2558 ที่สมาชิกทุกประเทศจะไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางการค้า แต่หลายฝ่ายกังวลถึงความพร้อมในการกำหนดมาตรฐานที่ปลอดภัยสำหรับการนำเข้า โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของคนไทยโดยตรง อาจมีความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค ดังนั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 จึงมีการนำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อในวาระการประชุมใหญ่เช่นกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการนำเข้ากลุ่มสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพิ่มขึ้นโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2552 มีการนำเข้ามูลค่า 32,255 ล้านบาท ต่อมาปี 2553 มูลค่า 37,225.5 ล้านบาท และปี 2554 มูลค่า 49,521 ล้านบาท
 
   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร” กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่ม AEC สูงถึง 2 ล้านล้านบาท และส่วนหนึ่งคือสินค้าด้านอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศเพื่อนบ้านบางชนิดก็จะส่งมาขายในประเทศไทยเช่นกัน หากไม่มีการตรวจสอบจะเกิดปัญหาสารตกค้างตามมาได้ จากการระดมความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ มีความเห็นตรงกันว่า ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
 
   โดยเสนอให้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ , กรมปศุสัตว์ , กรมประมง , กรมวิชาการเกษตร , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจสอบกำกับดูแลสินค้าที่ผลิตและนำเข้า และเพิ่มศักยภาพด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการและเครื่องมืออย่างเพียงพอ พร้อมทั้งให้เพิ่มสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ