- 126 views
เครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์-เภสัชศาสตร์ ผนึกกำลังจัดเวที “สมัชชาสุขภาพจิตฯ” หรือ “กาวน์ใจ” ใช้กระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย หวังคลายปมปัญหาด้านสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาจากภาวะความเครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ เตรียมนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งในระเบียบวาระ “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสมัชชาสุขภาพจิตนิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2566 (White coat’s Mental Health Assembly) ซึ่งจัดขึ้นโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุุปถัมภ์ฯ (สพท.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย (สนทท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) โดยมีคณะผู้บริหาร สธ. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มนิสิตนักศึกษารวมกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
สำหรับโครงการสมัชชาสุขภาพจิตฯ หรืองาน “กาวน์ใจ” ในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ อาจารย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มนักศึกษา พร้อมกับร่วมกันร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะมีการนำไปพิจารณาร่วมกับการพัฒนาข้อเสนอของคณะทำงานพัฒนาประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวาระของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์นั้นมีส่วนสำคัญในระบบสุขภาพ และมีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมให้ระบบสุขภาพจิตของประเทศดีขึ้น ซึ่งความสำคัญของสุขภาพจิต ถือเป็น 1 ใน 4 มิติของสุขภาวะที่ประกอบด้วย กาย จิต สังคม และปัญญา เชื่อมโยงกัน ดังนั้นหากมีปัญหาทางจิต ก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงมิติอื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และพบได้บ่อยกับผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ภาวะซึมเศร้านับเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการสูญเสียปีสุขภาวะในวัยรุ่น 15-19 ปีทั่วโลก โดยกว่า 75% ของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จะเริ่มมีอาการก่อนอายุ 18 ปี ดังนั้นปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเยาวชนอย่างมาก คือการรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากบนโลกออนไลน์ ที่แม้ในด้านหนึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายได้ง่ายและสะดวก แต่ข้อมูลข่าวสารหลายอย่างก็อาจมีผลกระทบต่อวิธีคิดและสภาพจิตใจของเยาวชนอย่างมากได้โดยที่ไม่รู้ตัว
รมว.สธ. กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยในส่วนของ สธ. ก็ได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win เพื่อรองรับ โดยมีแนวทางอย่าง “Mental Health Anywhere” ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการคุณภาพได้ตั้งแต่ในระยะแรก สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ โดยเน้นการขยายบริการครอบคลุมในชุมชน และเพิ่มศักยภาพด้วย Telemedicine ช่วยให้เข้ารับบริการได้สะดวก รวดเร็ว และเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังต้องการมุ่งที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนในสังคม เปลี่ยนทัศนคติที่ไม่มองผู้ป่วยทางจิตเป็นคนแปลกแยก แต่ทุกคนควรจะได้รับโอกาสและไม่ถูกกดทับซ้ำเติม
“ปัญหาด้านสุขภาพจิต ยังต้องการการแก้ไขที่ครอบคลุมครบทุกมิติ เริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล ครอบครัว ไปถึงชุมชน สังคม และที่สำคัญคือกลไกทางนโยบายสาธารณะจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่จะพัฒนาให้เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีความชัดเจน และถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบบริการทางสุขภาพจิตของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเด็นนี้ได้รับการบรรจุไว้เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก และ สธ. ก็มีความยินดีที่จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะนี้ให้สำเร็จ” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นศพ.ศุภานัน เจนธีรวงศ์ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) ประจำปีการศึกษา 2566 กล่าวว่า ทาง สพท. ได้ร่วมกับ สนทท. และ สนภท. จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เนื่องจากทั้ง 3 เครือข่ายเห็นตรงกันถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจริง และมีมานานในกลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียน รวมไปถึงการทำงานในอนาคตที่จะต้องให้การรักษาและบริบาลแก่ประชาชนทั่วไปด้วย แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในการสำรวจคุณภาพของสุขภาวะทางจิตขั้นต้น พบว่ามีปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น 1. ความเครียดในการเรียนการสอนที่เกิดจากอาจารย์ เช่น จากการใช้วาจาที่รุนแรง การสอน การอธิบายที่คลุมเครือ 2. ระบบการศึกษาและหลักสูตร ที่ไม่เอื้อต่อนิสิตนักศึกษา มีการบีบอัดเนื้อหาวิชาเรียน มีความซ้ำซ้อน 3. สภาพแวดล้อม เพื่อน และสังคมภายในคณะ มีความขัดแย้งหรือความกดดันที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ 4. ภาระงานและข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ทำให้นิสิตนักศึกษาไม่มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม เหนื่อยล้า 5. ระบบกิจการนิสิต มีปัญหา เช่น ความน่าเชื่อถือ การจัดการปัญหาที่นิสิตนักศึกษาร้องเรียน
ในขณะที่ปัจจัยดังกล่าว ได้ส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนและการบริบาล สภาวะความเครียดสะสมและสุขภาพจิต ภาวะการหมดไฟในการทำงาน ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคตื่นตระหนก นำไปสู่อัตราการพักการศึกษา ไปจนถึงการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
นศพ.ศุภานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ในการสำรวจภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น (PHQ-9) ร่วมกันของนิสิตนักศึกษาทั้ง 3 องค์กร ได้พบการเผชิญปัญหาภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ ที่พบภาวะซึมเศร้าเกินกว่า 50% เป็นต้น ทางเครือข่ายจึงมีความสนใจที่จะจัดทำเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจิตฯ เพื่อให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้ามาร่วมกันระดมปัญหา เสนอทางออก ผ่านกระบวนการ Design Thinking ก่อนที่จะได้ออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางต่างๆ ที่จะไปนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง และส่งผ่านไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ที่ผ่านมาเราอยู่กับปัญหาเรื่องนี้มานาน เห็นผลกระทบเกิดขึ้นกับคนรอบตัว บางคนถึงขั้นจบชีวิต แต่ก็ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเราหวังว่าข้อเสนอและแนวทางต่างๆ ที่นิสิตนักศึกษาระดมออกมาร่วมกันนี้ จะสามารถส่งไปถึงแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม คณบดีคณะต่างๆ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยในอนาคตเรายังอยากพัฒนาให้เกิดงานวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถนำไปอ้างอิงต่อได้มากขึ้น” นศพ.ศุภานัน ระบุ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141