ฉลุย! กรอบทิศทางนโยบายสาธารณะ เร่งสร้าง ‘ระบบสุขภาวะทางจิต’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช. จัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ภาคีเคาะฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย มุ่งพัฒนาให้เกิด “ระบบสุขภาวะทางจิต” ภายใต้นโยบาย-โครงการที่ครอบคลุมทั้งการสร้างเสริม รักษา ฟื้นฟู โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เด็ก-เยาวชน ช่วยหลุดพ้นวัฏจักรความรุนแรง เตรียมนำเข้าสู่การรับรองในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 21-22 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาระเบียบวาระดังกล่าว พร้อมร่วมกันมีฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ก่อนที่จะมีการนำไปรับรองและกล่าวแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมขับเคลื่อนร่างมตินี้ร่วมกัน บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566
 

สุขภาวะทางจิต


สำหรับกรอบทิศทางนโยบายของ “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ได้ระบุถึงความรุนแรงในสังคมไทยที่นับวันจะมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะในมิติหรือประเภทใดก็ตามล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์และส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างซับซ้อน ดังนั้นในการสร้าง “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่คนสามารถมีสุขภาวะ (well-being) และสังคมโดยรวมมีความยั่งยืนทางสุขภาพจิต จำเป็นต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต (mental well-being system)” ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม

ทั้งนี้ ระบบสุขภาวะทางจิต ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคล พฤติกรรม วิถีชีวิต การเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบนโยบายที่เป็นไปตามหลักสากล นับรวมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการพัฒนาโครงการที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีสำหรับคนไทยทุกคนตามแนวทางการสร้างเสริม ป้องกันและคัดกรอง รักษาและฟื้นฟู รวมถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิต และโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงรุก เข้าถึงได้ กระจายทั่วถึง ไม่ตีตรา และเป็นลำดับขั้นที่สอดคล้องกับทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น กฎหมาย กติกาและหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล และอิทธิพลโลก เพื่อลดสภาพปัญหาและจัดการปัจจัยที่ส่งผลให้การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนเพิ่มโอกาสและความหวังให้ประชากรทุกกลุ่มที่ทั้งมีอาการเจ็บป่วยและไม่มีอาการเจ็บป่วยสามารถมีสุขภาวะและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

นอกจากนี้ กลุ่มประชากรเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเปราะบางและหากได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีแนวโน้มเป็นผู้รับและผู้ส่งต่อความรุนแรงและขับเคลื่อนวัฏจักรของความรุนแรงในสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป นอกจากการใส่ใจประชากรทุกกลุ่มแล้ว ระบบสุขภาวะทางจิตควรต้องลงทุนและให้คุณค่ากับโครงสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมสำหรับกลุ่มประชากรเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเติบโต มีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดี และป้องกันวัฏจักรของความรุนแรงอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง
 

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ


นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 พ.ศ. 2565-2566 เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญจากข้อเสนอนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยต้องเลิกมองสุขภาพจิตว่าเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องของคนเดียวหรือหน่วยงานเดียวที่ต้องรับผิดชอบ หากแต่เป็นเรื่องที่จะต้องยกระดับกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดทำนโยบายสาธารณะร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ชุมชน ท้องถิ่น ฯลฯ

“ปัจจุบันเราตระหนักว่าการที่จะแก้ไขปัญหาในเชิงระบบโครงสร้างของสังคมได้ จะต้องมีกระบวนการพัฒนาให้เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ เปิดพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม คิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง สู่การเป็นเจ้าของประเด็นร่วมกัน ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่คู่ขนานกันไป ในมตินี้เราจึงมีการทำงานใน 3 จังหวัดที่สะท้อนตัวอย่างของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งวันนี้เราจะรวบรวมข้อเสนอต่างๆ มาสังเคราะห์และวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับชาติ ที่สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่กัดกร่อนสังคมไทยอยู่นี้ได้” นพ.นิรันดร์ กล่าว
 

วิสุทธิ บุญญะโสภิต


ดร.วิสุทธิ บุญญะโสภิต ผู้แทนคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของ จ.นครสวรรค์ ได้ออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย และมองในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน ‘นครสวรรค์สุขใจ’ เพื่อใช้ในการประเมินสุขภาพจิตของตนเอง นอกจากนี้ยังได้พัฒนา ‘เก้าเลี้ยว โมเดล’ ที่เป็นรูปแบบของการบูรณาการงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานพร้อมสร้างกลไก ‘5 กัลยาณมิตร’ ประกอบด้วย ท้องที่ ท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ญาติ และขวัญใจ คือคนที่ผู้ป่วยไว้วางใจในการทำหน้าที่สื่อสารพูดคุย ซึ่งรูปแบบนี้ได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงาน ที่พยายามจะผลักดันและขยายผลโมเดลนี้

ดร.วิสุทธิ กล่าวว่า จากการพูดคุยบนเวที สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ภาคีเครือข่ายร่วมกันมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ประกอบด้วย 1. เห็นชอบในหลักการการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ในการพัฒนาระบบสุขภาวะจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรงของ จ.นครสวรรค์ 2. เสนอให้ จ.นครสวรรค์ นำบทเรียนการทำงานตาม ‘เก้าเลี้ยวโมเดล’ ขยายผลไปยังทุกอำเภอในจังหวัด และนำเสนอต่อหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง 3. เสนอให้หน่วยงานที่ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกองค์กร สนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนโครงการกิน กอด เล่น เล่า และการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านด้วย
 

อัญชลี สุใจคำ


นางอัญชลี สุใจคำ ผู้แทนคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ เองเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่พบสถานการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและเยาวชน ซึ่งพบว่าเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ รวมถึงผลกระทบจากโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และส่งผลไปถึงการฆ่าตัวตายที่มีจำนวนสูงขึ้น ซึ่งภาคีเครือข่ายในจังหวัดมีความกังวลถึงสถานการณ์ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงร่วมกันมีข้อเสนอผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566

ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบาย จ.เชียงใหม่ ได้แก่ 1. การลดความรุนแรงในเด็กและเยาวชน 2. ระบบการบริการสาธารณสุข 3. การส่งเสริมความเข้มแข็งในครอบครัว 4. การพัฒนาระบบและกลไกเพื่อจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย 5. การจัดทำข้อเสนอเชิงกฎหมายและนโยบาย 6. เพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษาสถาบันการศึกษาทุกระดับและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7. สร้างเครือข่ายความร่วมมือขับเคลื่อนในเรื่องสุขภาพจิตและลดความรุนแรง
 

วรางคณา อินทโลหิต


ขณะที่ ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต ผู้แทนคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างจุดเปลี่ยนแปลงให้กับจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของยาเสพติด รวมถึงความรุนแรงต่างๆ ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมาทุกภาคส่วนต่างระดมแก้ไขปัญหาโดยมุ่งไปที่ยาเสพติดก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อทาง สช. ได้เลือกเป็นหนึ่งในจังหวัดผลักดัน โดยมีการสานพลังภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันพูดคุย และสรุปบทเรียน ทำให้พบว่าแม้ที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายจะทำงานอย่างจริงจัง แต่ยังมีจุดอ่อนที่ต่างคนต่างทำ และอาจไม่ได้คุยกันเพื่อค้นหารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง

ทั้งนี้ จากการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ประกอบด้วย 1. ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็ง เอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน 2. พัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด 3. ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตในครอบครัว ในชุมชน ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน 4. ส่งเสริมและพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิตคนหนองบัวลำภูตามกลุ่มวัย รวมทั้งกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม ให้มีสุขภาวะทางจิตที่ดี มีความปลอดภัย ไร้ความรุนแรง เป็นสังคมที่มีความเอื้ออาทร
 

สมชาย พีระปกรณ์


ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่องโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า เวทีสมัชชาสุขภาพในวันนี้ ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันมีฉันทมติต่อกรอบทิศทางนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ จะนำไปใช้เป็นกรอบในการทำงานของตน ส่วนความเห็นและข้อเสนอเพิ่มเติมที่ได้จากเวทีในครั้งนี้ จะได้รับการบันทึกไว้และนำไปปรับเนื้อหาในชุดเอกสาร ที่จะร่วมกันรับรองในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 เพื่อให้การสร้างระบบสุขภาวะทางจิต และการลดความรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้นได้จริงต่อไป
 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

 

สมชาย พีระปกรณ์

 

 

รูปภาพ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ