- 51 views
“คณะทำงานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ” ที่มี ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก เป็นประธาน ถือเป็นฟันเฟืองและกลไกการทำงาน ภายใต้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคม และสุขภาวะ
เป้าหมายขับเคลื่อน ๒ มติ ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑ เรื่อง “ผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว” และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ เรื่อง “การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชม. : กรณีเด็กไทยกับไอที” ให้มีความต่อเนื่อง
“บทบาทของคณะทำงานฯ ชุดนี้ จะทำหน้าที่บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ที่ทำหน้าที่ป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ พร้อมกับวางแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุม ตั้งแต่การป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยา” ดร.ธีรารัตน์ ระบุ
ที่ผ่านมา การประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนมีนาคม ได้กำหนดแนวทางดำเนินงานและร่างแผนปฏิบัติการโดยมีสาระสำคัญ คือ ๑. จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาช่องทางการเสนอกฎหมาย ๒. บูรณาการการทำงานร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ๓.การพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับ เด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี ๔. จัดประชุมหารือเพื่อติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙ ที่ประชุม มีการนำ (ร่าง) แผนการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ภายใต้กรอบระยะเวลา ๑ ปี (พฤษภาคม ๒๕๕๙-เมษายน ๒๕๖๐) มาหารือ เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงาน และงบประมาณที่จะมารองรับ โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติงาน ๔ โครงการ ประกอบด้วย ๑.โครงการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง ส่งเสริมเด็ก และเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ๒. พัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี ๓.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง และ ๔.ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ในช่วงสิ้นปีนี้ คณะทำงานฯ จะนำเสนอรายงานความก้าวหน้าจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ต่อที่ประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ เพื่อเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วน ได้เข้าใจและเห็นภาพ ว่าเรื่องเด็กกับสื่อ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข”
ในส่วนของการพัฒนากฎหมาย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ฝากความหวัง ว่าจะเป็นมาตรการบังคับ ที่จะทำให้การป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ได้ผลมากที่สุด
อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิชาการจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน กล่าวว่า จะมีการค้นคว้าระบบกฎหมายของนานาประเทศ ที่มีมาตรการคุ้มครองเด็กจากสื่อ อาทิ ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐ พร้อมตั้งระดมนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญและมีบทบาทในสังคม เช่น อาจารย์ คนึง ฦๅ ไชย มาร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างฯ
พร้อมนำร่างกฎหมายเข้าสู่ เวทีรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะด้วย และสื่อสารต่อประชาชนให้รับรู้ พร้อมจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ เผยแพร่ในวงกว้าง ก่อนจะมีการบังคับใช้จริงในอนาคต
ส่วนการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี ที่ประชุมมอบให้ รศ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นแกนหลัก ในการขับเคลื่อนบนฐานความคิดว่า “เด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ปี ควรถูกปกป้องคุ้มครอง ๑๐๐%”
แนวทางที่คณะทำงานฯ วางไว้เบื้องต้น คือการหารือกับ ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ISP : Internet Service Provider) จัดทำแพ็คเกจ การให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อคัดกรองเนื้อหาสาระ และ “จำกัดระยะเวลา” ในการใช้
โดยจะเริ่มต้นการทำงาน ด้วยการสำรวจความเห็นจากเด็กและผู้ปกครอง รวมทั้งจัดเวทีเพื่อถ่ายทอดแนวคิด เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ จะต้องรณรงค์ให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ และควบคุมสื่อที่มาถึงตัวเด็กได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่าน สมาร์ทโฟน
“แพคเกจนี้ผู้ให้บริการต้องลงทุน skinning software control เพื่อตัดสื่อที่ไม่ได้รับอนุญาตออกไป และจำกัดการใช้ ไม่ให้เกิน ๓ ชั่วโมงต่อวัน หากผู้ประกอบการเห็นด้วย ก็ทำการโฆษณา รณรงค์ ออกมา แม้จะไม่ใช่มาตรการบังคับ เป็นการขอความร่วมมือ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ เพราะแพ็คเกจนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเมื่อมีความต้องการ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการ จะทำการตลาดออกมา“
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลัก ในโครงการต่างๆ นำเสนอรายละเอียด แผนงานโครงการ ขั้นตอนการทำงาน และ งบประมาณ ที่ต้องใช้ ในที่ประชุมครั้งหน้า เพื่อเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจัง พร้อมกันทุกประเด็นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙
นอกจากนี้ ยังได้มอบให้แต่ละหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ นำความก้าวหน้าและผลสำเร็จ จากการดำเนินงานตามภารกิจงานของแต่ละหน่วยงาน เสนอต่อคณะทำงานฯ เป็นระยะๆ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ รับทราบ และเป็น จุดรวบรวมข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ไว้ที่เดียวกัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงาน ลดช่องว่างและความซ้ำซ้อนอีกด้วย
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143