- 350 views
คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ เร่งวางแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปี พัฒนาแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงกลไกการทำงานสู่ระดับท้องถิ่นมากขึ้น โดยใช้กลไกสมัชชาสุขภาพ พร้อมคัดเลือก ‘หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ’ หวังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประสบความสำเร็จ
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มี การประชุมคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมสานใจ ๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ซึ่งครอบคลุม การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก โดยกำหนดไว้ใน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ นำไปสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไป เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ส่งผลให้ทิศทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเดินไปได้อย่างมีเป้าหมาย
นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาฯ เห็นควรให้ยุทธศาสตร์ได้ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง จึงมีมติเห็นชอบจัดตั้ง อนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) โดยมี นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นต้น
โดยการยกร่างแผนฯ จะต้องระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนครอบคลุม ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านงานวิจัย ด้านระบบบริการ ด้านคุ้มครองภูมิปัญญา ด้านระบบยาและสมุนไพร และด้านกำลังคน
“คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาฯ จะเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไทและสุขภาพวิถีไท ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติในพื้นที่ โดยจะต้องประเมินผลงานอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และมีการเชื่อมภาคีเครือข่ายเพื่อให้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเกิดผลสำเร็จ”
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการคัดเลือก “หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ” เพื่อเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการใช้ภูมิปัญญาไทยดูแลรักษาสุขภาพ พร้อมจัดตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการนำร่องพัฒนาภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น ใน ๒ จังหวัด ได้แก่ เชียงรายและอุดรธานี เป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาที่เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สานพลังให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกัน
นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ กล่าวว่า การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ ๒ ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่ว่าระบบสุขภาพของประเทศต้องมีความมั่นคง สามารถพึ่งตนเองด้วยภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไท และประชาชนมีสิทธิในการเลือกใช้และเข้าถึงการแพทย์ระบบต่างๆ อย่างเท่าเทียมและรู้เท่าทัน ดังนั้น ในแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่ ๓ จะต้องดำเนินการต่อไป โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นพ.วิวัฒน์ ศรีวิชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสกลนคร กล่าวว่า โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสกลนคร ได้นำแผนยุทธศาสตร์ชาติไปขับเคลื่อน สอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ และมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ ที่เห็นควรจัดตั้งโรงพยาบาลต้นแบบภาคละ ๑ แห่ง เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่น มีผู้ใช้บริการ ๒๕,๐๐๐ คน ภายในเวลา ๓ ปี
ด้าน นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ต่อ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) สามารถจัดรูปแบบเป็น สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือนำเสนอประเด็นเข้าสู่ เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปลายปี ๒๕๕๙ นี้ก็ได้
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143