ขับเคลื่อน ๒ พื้นที่นำร่อง ‘เชียงราย-อุดรธานี’ ต้นแบบพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   บอร์ดพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ เดินเครื่อง ๒ พื้นที่นำร่อง จังหวัดเชียงรายและอุดรธานี เน้นให้ความสำคัญสมุนไพร ตำรับยาโบราณ แพทย์แผนไทย เชื่อมโยง ทีม ‘หมอครอบครัว’ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข หวังดูแลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศ
 
   การประชุมคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมจำนวนมาก
 
   นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายแผนดำเนินงานสนับสนุนโครงการนำร่องพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพระดับพื้นที่ จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ ตำบลป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย และ ตำบลจอมศรี จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มีการเชื่อมโยงการกับระบบต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และกฎระเบียบต่างๆ ในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพได้ชัดเจน จึงเห็นควรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมอบให้ รศ.จิรพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานคณะทำงาน
 
   “พื้นที่นำร่องทั้ง ๒ แห่ง ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมกับเชื่อมโยงภาควิชาการและการประกอบอาชีพได้อย่างน่าชื่นชม จึงควรต้องสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปเพื่อเป็นตัวอย่างให้หลายพื้นที่ดำเนินการตาม พร้อมขยายผลเชื่อมต่อกับระบบแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังพัฒนา ทีมหมอครอบครัว อันมีสหวิชาชีพที่หลากหลายในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างครอบคลุม”
 
   นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนำร่องพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพทั้ง ๒ พื้นที่ ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา ได้ประสานร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาการ วิชาชีพแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล ครู และหน่วยงานระดับท้องถิ่น เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ช่วยกันสนับสนุนนำ เอกสารใบลาน ตำรับยาโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ในชุมชนอย่างแท้จริง
 
   “สิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ภาพเชิงประจักษ์พิสูจน์ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่เพียงแต่เรื่องของสมุนไพรหรือการรักษา แต่ยังเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ป่าชุมชนให้อุดมสมบูรณ์ ดำรงชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เก็บได้กินได้อีกด้วย”
 
   โดยคณะทำงานฯ จะจัดทำแผนสนับสนุนการนำร่องพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ก่อนขยายผลสนับสนุนการพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพด้านป่าชุมชนและบุคลากรด้านแพทย์แผนไทย อาทิ จังหวัดแพร่ ลำปาง มหาสารคาม เป็นต้น พร้อมกับเชื่อมต่อไปยังระบบที่มีอยู่ทั้งสาธารณสุขและการศึกษา
 
   “เราสามารถสนับสนุนให้ แพทย์แผนโบราณ หรือบุคลากรที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมหมอครอบครัว เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลประชาชนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น”
 
   นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าเรื่อง แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) โดยล่าสุดได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว โดยอยู่ระหว่างนำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานสร้างเสริมสุขภาพ และให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ระบบการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และปลอดภัย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ