เร่งยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ วางยุทธศาสตร์สู่ระบบสุขภาพทั่วประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ตั้งทีมเดินหน้า ๓ ยุทธศาสตร์พัฒนาสมุนไพร แพทย์แผนไทย-แพทย์พื้นบ้าน-แพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และธรรมนูญระบบสุขภาพ ดันเข้าสู่มาตรฐานสากล พร้อมขยายผลสกลนครโมเดล หลังสำรวจพบป่าครอบครัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
 
   เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี เพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
 
   นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ล่าสุดกำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่ใช้เป็นกรอบและแนวทางการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยหวังว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต่อยอดนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเข้าสู่ระบบการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมสนับสนุนให้อยู่ในวิถีชีวิตคนไทย
 
   นพ.ประพจน์ เภตรากาศ กรรมการ กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการฯ ได้นำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีมาหารือร่วมกันเพื่อวางแนวทางขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาฯ เป็นกลไกสร้างเวทีกลางประสานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ วิชาการ องค์กรเอกชน ท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ผนึกกำลังพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเชื่อมโยงกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติและแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี เพื่อให้สอดรับกับทิศทางของประเทศในอนาคต
 
   “ขณะนี้หลายชุมชนได้นำเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน บรรจุเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบล เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาวิถีชีวิตชุมชนแล้ว” นพ.ประพจน์ กล่าว
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ควรตั้งกลไกเพื่อประสานให้เกิดการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ทั้ง ๓ ที่ประกอบด้วย การสร้างภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทให้เข้มแข็ง, การบูรณาการระบบบริการ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก และระบบยาจากสมุนไพรกับระบบการแพทย์อื่นๆ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน บุคลากร และเครือข่าย
 
   ในขณะที่ นายวิวัฒน์ ศรีวิชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร ได้ให้ข้อมูลเรื่องความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสมุนไพร โดยจากการสำรวจป่าครอบครัวในจังหวัดสกลนคร พบว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ทั้งจากสมุนไพร อาหาร และการใช้ประโยชน์อื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ขยายผลเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นต่อไป และเพื่อนำไปใช้พัฒนาเป็นข้อเสนอทางนโยบายในการปกป้องพื้นที่ป่าจากการสร้างและขยายตัวของโรงงานและอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ในปัจจุบัน
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์และการคาดการณ์กำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๙) ว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติกำลังจะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในเรื่องการคาดการณ์และวางแผนการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งรวมถึงบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อสังเกตและเสนอว่าการคาดการณ์และวางแผนเรื่องบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยต้องมองทั้งระบบที่ไม่ใช่เฉพาะบุคลากรสายวิชาชีพ แต่ต้องมองการทำงานเป็นทีมร่วมกับบุคลากรอื่นที่ไม่ใช่สายวิชาชีพอีกด้วย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ